หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รับประทาน peptein 4000 ทุกวัน จะมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย และจะบำรุงสมองตามที่โฆษณาไว้จริงหรือไม่ ขอบคุณค่ะ

ถามโดย PIC เผยแพร่ตั้งแต่ 11/11/2009-16:19:56 -- 116,262 views
 

คำตอบ

กรดอะมิโน (amino acid) เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน ซึ่งมีความสำคัญต่อร่างกายหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ ด้านการทำงานของสมอง เนื่องจากกรดอะมิโนเป็นสารตั้งต้นสำหรับสร้างสารสื่อประสาทในสมอง (neurotransmitter) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกับผู้รับ-ส่งข้อมูลไปยังส่วนต่างๆเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานของสมองและร่างกาย ดังนั้นหากร่างกายขาดกรดอะมิโนก็อาจทำให้การทำงานของสมองหรือร่างกายถดถอยลงไปได้ กรดอะมิโนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ - กรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น (non-essential amino acid) คือ กรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ - กรดอะมิโนที่จำเป็น (essential amino acid ) คือ กรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเข้าไป จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากรดอะมิโนเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน ดังนั้นในสภาวะปกติหากร่างกายของเราได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนอย่างเพียงพอตามหลักโภชนาการก็จะทำให้เราได้รับกรดอะมิโนอย่างเพียงพอเช่นกัน อาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น หมู วัว ปลา ไก่ เป็นต้น ไข่ ถั่วเหลือง สาหร่าย spirulina ชีส ซึ่งปริมาณของโปรตีนและชนิดของกรดอะมิโนในแต่ละแหล่งจะแตกต่างกันออกไป จากกการศึกษาพบว่าถั่วเหลืองเป็นแหล่งของโปรตีนที่ให้กรดอะมิโนที่จำเป็นแก่ร่างกายครบถ้วน จึงทำให้มีการนำถั่วเหลืองมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทานเพื่อเสริมโปรตีนหรือกรดอะมิโนให้แก่ร่างกาย โดยปกติเมื่อเรารับประทานอาหารจำพวกโปรตีน ร่างกายจะทำการย่อยให้อยู่ในรูปของกรดอะมิโนหรือเปปไทด์ (peptide; หมายถึง สารที่เกิดจากการจับกันของกรดอะมิโนตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป) ก่อนจึงจะดูดซึมได้ และเมื่อเปปไทด์ถูกดูดซึมไปแล้วก็จะถูกย่อยกลายเป็นกรดอะมิโนให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ในที่สุด ยกเว้นในกรณีของเปปไทด์ที่เกิดจากการรวมกันของกรดอะมิโนมากกว่า 4 ตัวขึ้นไปพบว่าร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมได้เนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินไปทำให้ร่างกายไม่ได้รับกรดอะมิโนจากเปปไทด์ดังกล่าว ดังนั้นในผลิตภัณฑ์บางชนิดจึงทำการผลิตให้เปปไทด์มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ถูกดูดซึมและถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนได้เต็มที่ ในบางสภาวะ ร่างกายจะมีการใช้สารอาหาร วิตามิน รวมถึงกรดอะมิโนในร่างกายมากกว่าปกติ เช่น การบาดเจ็บ อาการป่วย หรือเครียด เป็นต้น เพื่อช่วยในกระบวนการซ่อมแซมหรือชดเชยให้กระบวนการทำงานของร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ ดังนั้นการรับประทานอาหารตามปกติจึงไม่สามารถที่จะให้สารอาหารที่เพียงพอได้ จึงจำเป็นที่จะต้องรับประทานสารอาหารเสริมเข้าไป ซึ่งการรับประทานสารอาหารเสริมเข้าไปนี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายให้ดีขึ้น แต่เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายเสื่อมลงจากการขาดสารอาหารเหล่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเปปไทด์ที่ดูดซึมได้หรือกรดอะมิโนนั้นไม่สามารถที่จะช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้นกว่าสภาวะปกติที่เป็นอยู่ได้ แต่จะมีประโยชน์ในการช่วยไม่ให้ร่างกายขาดกรดอะมิโนจากภาวะที่ร่างกายมีความเครียดเพื่อช่วยให้การทำงานของสมองหรือร่างกายเป็นปกติมากกว่า ดังนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่มีความจำเป็นหากร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่มีความเครียดหรือเจ็บป่วย นอกจากนี้การรับประทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหรือการทำสมาธิก็สามารถช่วยบริหารความเครียดให้ลดลงได้เช่นกัน ส่วนในเรื่องของผลข้างเคียงร้ายแรงจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกรดอะมิโนหรือเปปไทด์ในขนาดปกตินั้นยังไม่มีการรายงานไว้ แต่อย่างไรก็ดีควรรับประทานตามขนาดที่ผู้ผลิตระบุไว้เท่านั้น นอกจากนี้ผู้รับประทานควรเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย เนื่องจากผู้รับประทานอาจเกิดการแพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ได้ หากมีอาการแพ้เกิดขึ้น เช่น เป็นผื่นแดงตามตัว หายใจลำบาก มีอาการบวมตามปากหรือใบหน้า ให้หยุดรับประทานและรีบไปพบแพทย์ทันที

Reference:
1. Michelfelder AJ. Soy: A Complete Source of Protein. Am Fam Physician. 2009;79(1):43-47.
2. Bowen R. Absorption of Amino Acids and Peptides [Online]. 2006 Jul 8 [cited 2009 Nov 12]. Available from: URL: http://www.vivo.colostate.edu/hbooks/pathphys/digestion/smallgut/absorb_aacids.html

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้