ผลงานของ อ.ประดิษฐ์

ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร
   

คุณูปการของครูประดิษฐ์ในการพัฒนาสมุนไพรไทย

คุณูปการของครูประดิษฐ์ในการพัฒนาสมุนไพรไทย

1368  Views  

ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ให้ความสนใจและเล็งเห็นถึงบทบาทที่สำคัญของเภสัชกรในการให้ความรู้เรื่องสมุนไพรกับประชาชนทั่วไป  จึงได้วางรากฐานการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรของคณะฯ  ท่านได้ริเริ่ม“โครงการมาตรฐานสมุนไพร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2523 ซึ่งดำเนินการโดยอาจารย์จากภาควิชาที่เกี่ยวข้องได้แก่ เภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชวินิจฉัย และเภสัชเคมี  และมี ศ.ดร.ภก. ไฉน สัมพันธารักษ์ เป็นประธานโครงการฯ

ศ.ดร.ภก. ไฉน สัมพันธารักษ์

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำมาตรฐานและการตรวจเอกลักษณ์ของสมุนไพรไทย การดำเนินงานครอบคลุมตั้งแต่การคัดเลือกสมุนไพรจากตำรายาไทย ตรวจสอบชื่อพฤกษศาสตร์ ศึกษาลักษณะภายนอกทั้งสมุนไพรสดและแห้ง ศึกษาจุลทัศน์ลักษณะของเนื้อเยื่อตามขวางและตามยาว เนื้อเยื่อจากผง สรุปลักษณะเด่นและเฉพาะสำหรับสมุนไพรแต่ละชนิด ศึกษากลุ่มสารเคมีเบื้องต้นด้วยปฏิกิริยาสี ปริมาณเถ้า และความชื้น และได้จัดทำเป็นหนังสือ “Specification of Thai Medicinal Plants” ซึ่งใช้เป็นเอกสารอ้างอิงจนถึงปัจจุบัน

 

 

ในปี พ.ศ. 2523 – 2524 กองวางแผนเตรียมพร้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมได้ขอให้ ผศ.ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น) และคณะ ไปช่วยทำแผนฯ การเตรียมพร้อมด้านยา เมื่อเริ่มดำเนินการพบว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพายาจากต่างประเทศทั้งหมด จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนยาถ้าประเทศถูกตัดขาดจากภายนอก แผนการสำรองยาที่เคยทำในอดีต ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะยามีอายุและใช้งบประมาณสูง ทางคณะทำงานจึงนำเรื่องเสนอครูประดิษฐ์ ในการศึกษาหาแนวทางการพัฒนาเอาทรัพยากรในประเทศมาใช้ ท่านได้ให้คำแนะนำและรับโครงการฯ เข้าเป็นโครงการของคณะฯ เพื่อจัดทำ แนวทางการพัฒนาสมุนไพร ท่านได้เป็นผู้ชี้แนะให้ข้อมูลหลายด้านแก่คณะทำงาน จนกระทั่งงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบรับแผนฯไปดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5  ในส่วนของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบจัดทำศูนย์ข้อมูลการวิจัยสมุนไพรไทย 

 

 

ครูประดิษฐ์ได้มอบหมายให้ ผศ.ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น) เป็นแกนนำในการผลักดันงานด้านนี้ โดยการเริ่มต้นรวบรวมข้อมูลสมุนไพรและเก็บข้อมูลที่ห้องวิจัยกลาง  ต่อมาได้ไปปฏิบัติงานวิจัยกับ Prof. Norman R. Farnsworth ที่มหาวิทยาลัย Illinois ที่มีฐานข้อมูล NAPRALERT ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้มีโอกาสศึกษาดูงานเรื่องฐานข้อมูลและเจรจาขอความร่วมมือในการขอใช้ข้อมูลจาก NAPRALERT ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน ได้จัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการโครงการศูนย์ข้อมูลสมุนไพร โดยเริ่มต้นในเดือนมกราคม พ.ศ.2526 และปัจจุบันเป็นสำนักงานข้อมูลสมุนไพร ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลสมุนไพรแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีการให้บริการต่อเนื่องยาวนานมาจวบจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นแหล่งข้อมูลด้านสมุนไพรระดับชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งอ้างอิงให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คือการจัดทำคู่มือการใช้สมุนไพร ก้าวไปกับสมุนไพร เล่ม 1, 2, 3 ซึ่งแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ใช้ในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งสร้างความมั่นคงทางยาในระดับครัวเรือน ทำให้ประชาชนสามารถใช้สมุนไพรในการรักษาโรคง่าย ๆ ที่ประชาชนวินิจฉัยเองได้

 

 

ศ.เกียรติคุณ ดร. ภญ. นันทวัน บุณยะประภัศร (ตำแหน่งวิชาการปัจจุบัน)

 

Prof. Norman R. Farnsworth, University of Illinois at Chicago

 

ศ. นพ. ประเวศ วะสี

 

 

ในด้านการวิจัยและพัฒนายาสมุนไพร ครูประดิษฐ์ ได้เตรียมการตั้งแต่จัดหาเครื่องมือสกัดขนาดใหญ่ เครื่องมือวิเคราะห์ ที่ทันสมัยในสมัยนั้น ได้แก่ HPLC และ UV spectroscopy เป็นต้น เมื่อได้จัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 5  ท่านจึงได้สนับสนุนให้อาจารย์คัดเลือกสมุนไพรมาวิจัยและพัฒนา ขณะนั้นไทยส่งออกฝักมะขามแขกไปผลิตเป็นยาส่งกลับมาขายไทย อาจารย์ประดิษฐ์จึงได้มอบให้อาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมพัฒนายาเม็ดมะขามแขกและถ่ายทอดสู่องค์การเภสัชกรรม นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนายาอื่น ๆ ต่อมา เช่นยาระบายผงเม็ดแมงลัก ยาเตรียมใบบัวบก เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังได้รับปัญหาเรื่องการแปรรูปยาสมุนไพรของภาคเอกชนมาให้อาจารย์ช่วยพัฒนา นับเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมยาสมุนไพร

 

 

โครงการพัฒนายาจากสมุนไพร

 

นอกจากผลักดันด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรของคณะฯ  ครูประดิษฐ์ สามารถผลักดันนโยบายผ่านกรรมการต่าง ๆ ทางด้านสมุนไพร อาทิเช่น คณะกรรมการพัฒนาการใช้ยาสมุนไพรของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาเคมีและเภสัช คณะกรรมการยาสมุนไพรขององค์การเภสัชกรรม จากความสำเร็จในการจัดทำแผนพัฒนาสมุนไพร ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 5 ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้รับความไว้วางใจจาก ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นคณะกรรมการ สศช. ให้จัดทำแผนพัฒนาสมุนไพรเพื่อบรรจุเข้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 6 แต่การขัดแย้งว่าใครจะเป็นเจ้าของเรื่องหรือจะจัดตั้งหน่วยงานกลาง ทำให้งานล่าช้า  ครูประดิษฐ์ เป็นห่วงเรื่องนี้มากแม้กระทั่งในเช้าวันสุดท้ายที่ท่านเสียชีวิต ก่อนไปประชุมคณะกรรมการยาฯ ท่านได้เรียก ผศ.ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น) ซึ่งเป็นเลขานุการคณะทำงานฯ ไปสอบถาม และกำชับว่าต้องส่งร่างฯให้คณะกรรมการยาฯ ได้ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งแผนฯ ได้รับการยอมรับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 6 หลังจากนั้นนโยบายเรื่องการทำแผนเปลี่ยนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปยังกระทรวงต่าง ๆ  และกระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องแผนพัฒนาสมุนไพรไปดำเนินการตั้งแต่แผนฯ 7 เป็นต้นไป 

 

ดร.โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6

 

งานด้านสมุนไพรทุกเรื่องที่ท่านได้ริเริ่ม ผลักดัน สนับสนุนและวางรากฐานเอาไว้จากเมื่อวันนั้น ปัจจุบันงานเหล่านี้ได้รับการพัฒนาและออกดอกออกผลและนำไปสู่ประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก แรงบันดาลใจที่อาจารย์ได้สร้างไว้ให้กับอาจารย์รุ่นน้อง ลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงาน ได้ส่งผลให้การพัฒนาสมุนไพรในปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่องและกำลังได้รับการผลักดันด้วยนโยบายและมาตรการสำคัญของรัฐบาลจำนวนมากเช่น Bio-Circular-Green Economy นโยบาย Thailand 4.0 และรวมไปถึงการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย เป็นต้น 

 

เอกสารอ้างอิง

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นาย ประดิษฐ์ หุตางกูร ป.ม., ท.ช.. (2528). อาจารย์ประดิษฐ์ กับงาน
        พัฒนาสมุนไพร. (หน้า 113 – 118). ม.ป.ท.

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา