1666 Views |
เมื่อครูประดิษฐ์ หุตางกูร ก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ คณะที่สองของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2511 นั้น หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตมีระยะเวลาศึกษา 5 ปี แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของครู ดังที่ครูเคยกล่าวไว้ว่า “เภสัชกรควรมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ และพยาบาล เภสัชกรควรมีความสามารถทบทวนและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย” ประกอบกับปณิธานที่จะดำเนินการสร้างบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาการใช้ยาไม่ถูกต้องของประชาชน ครูจึงบรรจุ วิชาเภสัชกรรมคลินิก เป็นวิชาบังคับไว้ในหลักสูตร ซึ่งต่างจากคณะเภสัชศาสตร์คณะแรกที่อยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ครูประดิษฐ์ จึงขอทุน ก.พ. เพื่อส่ง อาจารย์เฉลิมศรี ภุมมางกูร (ตำแหน่งวิชาการในสมัยนั้น) ไปศึกษาวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันได้เริ่มติดต่ออาจารย์แพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้มาสอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์ การจัดการเรียนการสอนวิชาเภสัชกรรมคลินิกเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นปีที่นักศึกษารุ่นแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในชั้นปีที่ 5 นักศึกษามีโอกาสไปดูผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ได้ไปเรียนข้างเตียงผู้ป่วย และได้เรียนรู้การรักษาผู้ป่วยด้วยยา ตลอดจนการติดตามประสิทธิผลและอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย กล่าวได้ว่าหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักสูตรแรกที่เน้นผู้ป่วย (patient-oriented) และเป็นต้นแบบให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตในคณะต่าง ๆ ในทิศทางเดียวกันตามการพัฒนาของวิชาชีพ
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2512-2516) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ครูประดิษฐ์ ยังเห็นว่าวิชาการทางเภสัชกรรมคลินิกต้องมีการพัฒนาต่อไป จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิกขึ้นในปีการศึกษา 2519 นับเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเลือกจากทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) ให้เป็นสถาบันการศึกษาหลักด้านเภสัชอุตสาหกรรมและเภสัชกรรมคลินิก ในการผลิตอาจารย์ให้แก่คณะเภสัชศาสตร์ที่เปิดขึ้นใหม่ ตามโครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ (UDC; University Development Commission) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาจารย์เภสัชศาสตร์ ซึ่งจากการสำรวจของทบวงมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2535 ในเวลานั้นมีคณะเภสัชศาสตร์ 8 คณะ และมีความต้องการอาจารย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นถึง 530 คน
จากการวางรากฐานของ ครูประดิษฐ์ หุตางกูร จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา จากวิชาเภสัชกรรมคลินิก หลักสูตร 5 ปีที่เน้นผู้ป่วย และหลักสูตรปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิก ณ เวลานั้น ก่อเกิดการพัฒนาต่อเนื่องจนมาเป็นหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต 6 ปี หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเภสัชกรรมคลินิก หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิตสาขาเภสัชกรรมคลินิก และหลักสูตรวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด ในปัจจุบัน
ผู้สำเร็จปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิก ปี พ.ศ. 2550
นอกจากการวางรากฐานการเรียนการสอนทางเภสัชกรรมคลินิกในมหาวิทยาลัยแล้ว ครูประดิษฐ์ได้เล็งเห็นความจำเป็นขององค์ความรู้ทางยาที่ถูกต้องและทันสมัย จึงได้จัดการประชุมวิชาการให้แก่เภสัชกรโรงพยาบาลเพื่อเป็นการฟื้นฟูวิชาการ ในยุคแรกเรียกว่า การฟื้นฟูวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิก และได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 1 ขึ้นที่ห้องประชุมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2518 และจัดต่อเนื่องเรื่อยมา นอกจากนี้ ครูประดิษฐ์ยังจัดอบรมความรู้ด้านยาและโรคที่พบในร้านยาให้แก่เภสัชกรร้านยาอีกด้วย และได้จัดให้มีการประชุมวิชาการด้านเภสัชกรรมชุมชนครั้งที่ 1 ขึ้นที่ห้องประชุมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2525 การจัดประชุมเภสัชกรรมคลินิกและเภสัชกรรมชุมชนได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบัน และมีการปรับเปลี่ยนชื่อการประชุมให้เข้ากับยุคสมัย อาทิเช่น การประชุมวิชาการ Advances in Pharmacotherapy and Pharmacy Practice การประชุมวิชาการ Pharmacotherapy of Interesting Common Diseases การประชุมวิชาการ Drug Interactions: From PK/PD to Patient Safety & Optimal Outcomes (DI-P2) เป็นต้น ทำให้เภสัชกรโรงพยาบาลและร้านยาได้มีการเรียนรู้ภายหลังสำเร็จการศึกษาและมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยและสามารนำไปปฏิบัติได้ นับเป็นต้นแบบของการให้การศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Pharmaceutical Education; CPE) ที่สภาเภสัชกรรมกำหนดให้เภสัชกรทุกคนต้องเก็บหน่วยกิตให้ได้ 100 หน่วยกิตต่อ 5 ปีเพื่อที่จะต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ ที่เดิมเรียกชื่อว่าใบประกอบโรคศิลป
ครูประดิษฐ์ หุตางกูร กล่าวเปิดงานและบรรยายในการฟื้นฟูวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2518
หนังสือประกอบการประชุมวิชาการเภสัชกรรมคลินิก
หนังสือประกอบการประชุมวิชาการเภสัชกรรมชุมชน
ครูประดิษฐ์ยังมีดำริในการจัดตั้งคลังข้อมูลยาขึ้นในปี พ.ศ. 2526 เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลยาให้แก่บุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลยาที่ทันสมัย และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของงานเภสัชกรรมคลินิก เฉกเช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของงานเภสัชกรรมคลินิกในต่างประเทศ รวมถึงการให้ข้อมูลการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ประชาชน การดำเนินการจัดตั้งคลังข้อมูลยา มีผู้ร่วมก่อตั้งหลายท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ฉวี บุนนาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลิ้นจี่ หวังวีระ รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ภุมมางกูร และ รองศาสตราจารย์ ธิดา นิงสานนท์ เมื่อแรกเริ่ม คลังข้อมูลยาจัดเป็นโครงการเฉพาะกิจที่สิ้นสุดภายใน 5 ปี ตามระเบียบราชการในยุคนั้น ต่อมาในสมัยที่ รองศาสตราจารย์ ปราณี ใจอาจ ดำรงตำแหน่งคณบดี (พ.ศ. 2530 ถึง 2534) รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ภุมมางกูร ซึ่งดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผนในขณะนั้นได้เสนอให้โครงการนี้เข้าเป็นหนึ่งในงานบริการวิชาการของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 6 ทำให้คลังข้อมูลยาเปลี่ยนสถานภาพจากโครงการเฉพาะกิจเป็นหนึ่งในหน่วยงานบริการวิชาการของคณะเภสัชศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีการจัดทำหนังสือยาใหม่ในประเทศไทยที่ใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับโรงพยาบาลในการจัดซื้อยา จนถึงปัจจุบัน คลังข้อมูลยายังคงยืนหยัดทำหน้าที่จัดทำข่าวยา สารคลังข้อมูลยา (ที่มีบทความการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์) เกร็ดความรู้สู่ประชาชน และตอบปัญหาเรื่องยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บริการข้อมูลด้านยาที่ถูกต้องและมีคุณภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและบุคลากรทางสาธารณสุขสาขาต่าง ๆ ให้มากที่สุด
หนังสือยาใหม่ในประเทศไทย เล่ม 1
สารคลังข้อมูลยา
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome