ผลงานของ อ.ประดิษฐ์

ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร
   

การก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

1670  Views  

การศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457  ในระยะแรกๆ ยังมีผู้เข้าศึกษาค่อนข้างน้อย ในระยะ 25 ปีแรกอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลาน มีนักเรียนบ้างไม่มีบ้างสลับกันอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากขาดผู้สนใจรับผิดชอบโดยตรง อาจารย์ไม่เพียงพอ ไม่มีสถานที่เรียนของตัวเอง ไม่มีกฎหมายคุ้มครองวิชาชีพ จนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นแผนกอิสระแผนกหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นหัวหน้าแผนกเมื่อปี พ.ศ. 2482 ซึ่งหลักสูตรการศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นหลักสูตรขั้นปริญญา และรวมไปถึงการมีอาคารเรียนเป็นของตนเองซึ่งตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้มีการแยกคณะวิชาด้านแพทยศาสตร์จำนวน 4 คณะมาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2486

ดร.ตั้ว ลพานุกรม

โลโก้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2490 ครูประดิษฐ์ หุตางกูร เริ่มรับราชการที่ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ได้รับทุนจาก International Co-operation Agency (I.C.A.) ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาเภสัชอุตสาหกรรม ที่ School of Pharmacy, Purdue University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา M.S. (Master of Science) ในปี พ.ศ. 2500 และได้ฝึกงานที่ NIH (National Institute of Health) ก่อนกลับประเทศไทย ในระหว่างเรียนที่ School of Pharmacy ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ได้เรียนวิชา Physics ที่ School of Physics ควบไปด้วย และได้กลับมาเปิดสอนวิชา Physical Pharmacy ซึ่งเป็นวิชาใหม่ในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ต่างประเทศ แก่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 

ในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ การออกพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พ.ศ. 2493 แต่โดยที่จำนวนเภสัชกรในประเทศไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามการพัฒนาการครองชีพจากแผนเก่ามาสู่แผนใหม่ ทำให้เกิดปัญหาจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง โดยเลขาธิการบริหารสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ตั้งข้อสังเกตไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่า มีร้านยาจ่ายยาผิดจากใบสั่งของแพทย์เป็นเหตุให้เกิดอันตรายขึ้นแก่ผู้ป่วยที่ซื้อยาไปใช้ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาหาทางควบคุมแก้ไข กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเห็นว่าจะต้องดำเนินการควบคุมและแก้ไขโดยมีหลักการที่จะต้องดำเนินการ 6 ประการ และหนึ่งในนั้นคือ “จะได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เพื่อให้พิจารณาหาทางเพิ่มจำนวนนักศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ให้มากขึ้น” ด้วยเหตุนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประสานให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ซึ่งขณะนั้นมีคณะเภสัชศาสตร์เพียงคณะเดียว (ตั้งอยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ให้พิจารณาหาทางเพิ่มจำนวนนักศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ให้มากขึ้นและนำไปสู่โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2508 ซึ่งในขณะนั้น ครูประดิษฐ์ ทำหน้าที่รักษาการเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างโครงการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่ขึ้นเป็นคณะที่สองในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อเพิ่มการผลิตเภสัชกรให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขที่ขาดแคลนเภสัชกรในขณะนั้น

 

ครูประดิษฐ์ เคยเล่าไว้ว่า “ตอนที่ผมได้รับมอบหมายให้เขียนโครงการและเริ่มจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พญาไทนั้น ผมเป็นอาจารย์ในคณะเภสัชศาสตร์มาเกือบยี่สิบปีแล้ว ได้มีโอกาสคลุกคลีกับวงการเภสัชกรรมในเมืองไทยและไปศึกษาดูงานในต่างประเทศมาพอสมควร ผมก็ฝันที่จะเห็นการศึกษาและวิชาชีพของเราเจริญก้าวหน้าเป็นที่ยกย่องในทางวิชาการและมีความสำคัญเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย โดยในด้านการศึกษาก็มุ่งหวังที่จะขยายหลักสูตรให้ถึงขั้นปริญญาเอก ในด้านการผลิตเภสัชกรนั้นก็ต้องการให้บัณฑิตของคณะฯ มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางเภสัชกรรม และด้านธุรกิจ การจัดการเพื่อทำงานในด้านต่างๆ ของวิชาชีพทุกสาขา”

โครงการการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท จึงได้รับการร่างขึ้นโดยครูประดิษฐ์ ในทันที และต่อมาได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาการศึกษาแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีตามลำดับ จนมีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดี และครูประดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี

 

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2511

คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 50 คน ในปีการศึกษา 2512 โดยศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่คณะวิทยาศาสตร์ แล้วจึงมาเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ดังนั้น ในปีการศึกษา 2514 จึงเป็นปีที่คณะฯ เปิดสอนนักศึกษาที่ผ่านการเรียนจากคณะวิทยาศาสตร์เป็นปีแรก

 

นักศึกษาเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นแรก ถ่ายภาพร่วมกับคณาจารย์

 

การทำงานในช่วงก่อตั้งคณะฯ หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับการสร้างบ้านใหม่หนึ่งหลัง ที่เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ครูประดิษฐ์ต้องทุ่มเทแรงกายและปัจจัยเพื่อลงรากปักฐานให้มั่นคงเพื่อให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ และยังประโยชน์แก่คนรุ่นหลังที่จะเข้ามา เริ่มต้นจากการเลือกสถานที่ตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ก่อนหน้าจะย้ายมาตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา ในตอนนั้นมีที่ดินให้เลือกอยู่ 2-3 แห่ง โดยสถานที่บางแห่งมีขนาดพื้นที่มากกว่า และสามารถสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาได้ แต่ครูประดิษฐ์กลับตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งคณะฯ ในปัจจุบัน เคยมีคนถามถึงสาเหตุที่เลือกสถานที่แห่งนี้แทนที่จะไปเลือกตั้งคณะฯ ที่ถนนโยธี เพื่อจะได้สร้างตึกใหม่ แต่กลับมาเลือกใช้ตึกเก่าของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ซึ่งขณะนั้นได้ย้ายไปยังถนนพระราม 6 ข้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ครูประดิษฐ์ ตอบว่า “ตึกหาไม่ยากแต่ที่ดินหายาก” คำตอบนั้นแสดงถึงการมองการณ์ไกลไปในอนาคต ที่ครูเล็งเห็นว่า คณะเภสัชศาสตร์จะมีสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน หรือร้านยาของคณะฯให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติในฐานะเภสัชกรชุมชน ที่ดินติดถนนใหญ่อย่างถนนศรีอยุธยาจึงดีกว่าในการทำธุรกิจ ทำมาค้าขาย นักศึกษาก็เดินทางมาเรียนได้สะดวก ซึ่งก็เป็นจริงในเวลาต่อมา

 

ภาพตึกเก่าคณเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ในระยะแรกเมื่อย้ายมาทำงานใหม่ๆ ต้นไม้ในคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ยังมีน้อย ครูประดิษฐ์ต้องการให้ทุกคน มีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้บริเวณคณะฯ ภาควิชาละต้นแล้วแต่จะเลือกต้นไม้ชนิดใด ครูประดิษฐ์ชอบที่จะเห็นความสามัคคีของอาจารย์ที่จะร่วมกันทำอะไรด้วยตนเอง ครูประดิษฐ์เล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า “บ้านผมเอง ผมตอกตะปูเองทุกตัว” ดังนั้นในระยะบุกเบิกคณะฯ จะเห็นการให้ความร่วมมือของลูกศิษย์ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ช่วยกันจัดกิจกรรมพัฒนาคณะฯ ด้วยการปลูกต้นไม้และลอกบ่อน้ำหลังคณะฯ ที่ติดกับกองพันสารวัตรที่ 1 ในระยะต่อ ๆ มา ครูประดิษฐ์ก็มักจะหากิจกรรมที่ผู้ร่วมงานและลูกศิษย์จะได้มาร่วมกันทำ นัยก็เพื่อเพิ่มความรู้จักกันและกันและสร้างความสามัคคี

picture 8,9

ครูประดิษฐ์ ปลูกต้นไม้

 

ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ พัฒนาคณะ

 

ทุกเช้าก่อนเริ่มทำงานจะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างอาจารย์ที่มาร่วมก่อตั้งคณะใหม่ อาจารย์บางท่านยังจำได้ว่า ครูประดิษฐ์จะแจกเอกสารหลักสูตรเภสัชศาสตร์ของต่างประเทศให้ไปอ่าน แล้วมาอภิปรายกันในที่ประชุมครั้งถัดไป เพื่อวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรเภสัชศาสตร์ที่ทำการเรียนการสอนในต่างประเทศในยุคนั้นจะได้นำมาสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมของคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ให้มีความหลากหลายของรายวิชาต่อไป อาจารย์ใหม่ที่มาร่วมกันก่อตั้งคณะฯ ในช่วงนั้นจึงสนิทกันมากเพราะมีการประชุมกันเป็นประจำ และได้ชื่อว่าเป็นมือขวาทางวิชาการให้แก่ ครูประดิษฐ์ด้วย

 

ครูประดิษฐ์ และคณาจารย์

 

ในส่วนของคณาจารย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการตั้งคณะใหม่นั้นส่วนหนึ่งแยกมาจากคณะเก่าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูประดิษฐ์มีความห่วงใยผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก ในช่วงแรกท่านกลัวว่าอาจารย์ท่านอื่นจะต้องมาลำบากเนื่องจากตึกที่จะย้ายมาทำงานกันนั้นเป็นตึกเก่า สวัสดิการก็ยังไม่ดี จึงให้อาจารย์ทั้งหลายเลือกด้วยความสมัครใจ ไม่ได้บังคับหรือขอร้องให้มา อาจารย์ท่านอื่นที่ยังไม่มีการสอนในช่วงแรก (ผู้ที่มีวิชาสอนชั้นปี 3-4) ก็ยังไม่ให้ตามมา เหตุผลหนึ่งคือเพื่อประหยัดงบประมาณ แต่อีกเหตุผลคือไม่อยากให้ย้ายมาแล้วต้องมาประสบความยากลำบาก 

ในช่วงแรกของการเปิดคณะฯ งบประมาณที่ได้มีจำกัด แต่ด้วยความรักและมุ่งมั่นให้คณะฯ เปิดสอนได้ ครูประดิษฐ์จึงใช้ชื่อตนเองในการขอยืมเครื่องแก้วและเคมีภัณฑ์จากบริษัทวิทยาศรมก่อน และค่อยตั้งงบซื้อคืน ถึงแม้จะไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่เพื่อให้คณะฯ เปิดสอนได้ตามกำหนดและนักศึกษามีอุปกรณ์เพียงพอ นอกจากนี้ครูประดิษฐ์ยังได้จัดระบบ lab. กลางและวิจัยกลาง รวมเครื่องมือและสารเคมีไปอยู่ที่เดียว ทำให้ประหยัดงบประมาณ และจัดระบบการใช้ห้องวิจัยกลาง ทำให้มีเงินที่จะจัดซื้อเครื่องมือชิ้นใหญ่ได้ คณะฯ จึงพร้อมสอนและวิจัยได้เร็วขึ้น

ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระราชทานนาม “มหิดล” และมีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ณ เวลานั้นจึงมีคณะเภสัชศาสตร์ 2 คณะ ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแรกตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกชื่อว่าคณะเภสัชศาสตร์ และคณะที่สองตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา เรียกชื่อว่าคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท

ต่อมาในปี พ.ศ. 2515  คณะเภสัชศาสตร์แห่งเดิมที่ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถูกโอนย้ายเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเหลือคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท เพียงคณะเดียวในมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท จึงเปลี่ยนชื่อเป็น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จากอาคารเก่า 4 หลังในเวลานั้น ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาจนเป็นอาคารทันสมัยในปัจจุบัน

 

อาคาร 1 สำนักงานธุรการ (ปัจจุบันเป็นอาคารเทพรัตน์ด้านหน้า)

 

อาคาร 2 ห้องบรรยาย 100 และ 200 ห้องปฏิบัติการเภสัชกรรม เภสัชเคมี ชีวเคมี และอาหารเคมี ห้องสมุด ห้องพักอาจารย์ ห้องคณบดี (ปัจจุบัน เป็นอาคารราชรัตน์ด้านหน้า)

 

อาคาร 3 ห้องปฏิบัติการเภสัชอุตสาหกรรม จุลชีววิทยา เภสัชพฤกษศาสตร์ เภสชวินิจฉัย สรีรวิทยา และเภสัชวิทยา ห้องวิจัยกลาง ห้องเลี้ยงสัตว์ทดลอง และห้องพักอาจารย์ (ปัจจุบันเป็นอาคารราชรัตน์ด้านหลัง และอาคารวิจัยประดิษฐ์ หุตางกูร)

 

อาคาร 4   ห้องบรรยาย และ ห้องประชุมใหญ่ปรับอากาศ (ปัจจุบันเป็นอาคารเทพรัตน์ด้านหลัง) 

 

 

ที่มา

  • ชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล (บรรณาธิการ). ที่ระลึกในงานเกษียณอายุราชการ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร 25 กันยายน 2526. กรุงเทพ:ชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล, พ.ศ. 2526.
  • สุคนธ์ พูนพัฒน์, สุทิน ศิริไพรวัน, เสริมสิริ วินิจฉัยกุล, นันทวัน บุญยะประภัศร, ธิดา นิงสานนท์, หนู สมจรรยากุล, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, ราตรี ฆ้องประสูติ, อุดม สุขพิพัฒน์ (บรรณาธิการ). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายประดิษฐ์ หุตางกูร 29 สิงหาคม 2528. กรุงเทพ:คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ศ. 2528.
  • บุญยงค์ ตันติสิระ, สุรพงษ์ เก็งทอง, ชัยชนะ เตชะวัชรเทพ, นฤพร สุตัณฑวิบูลย์, จิตติมา ศรีสมบูรณ์, กุลวรา เมฆสวรรค์, ณัฐสราจิรันดร,นิมิต คุ้มทอง, พัชรินทร์ ฮั่นพิพัฒน์, บุญเลิศ ฉายเหมือนวงศ์, วลัยศิริ ม่วงศิริ (บรรณาธิการ). 90 ปีการศึกษาเภสัชศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพ:คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2547.
  • ธิดา นิงสานนท์, ปรานี ภิญโญวัฒยากร, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล (บรรณาธิการ). รำลึกอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ชีวิตและผลงานของหมอยาใหญ่แห่งวงการเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพ:มูลนิธิคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ศ. 2558.

 

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา