บุคลากรรำลึก

ความรู้สึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ จากบุคลากรปัจจุบันและบุคลากรที่เกษียณอายุราชการ
   

โดย สมพล ประคองพันธ์ ลูกศิษย์ และอาจารย์ภาควิชาเภสัชกรรม

848  Views  

รำลึกถึงท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร

เนื่องในวาระครบ 100 ปี ชาตกาล

 

 

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร  อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานด้านเภสัชอุตสาหกรรมและนโยบายสำคัญของประเทศที่เกี่ยวกับยา เป็นผู้ก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการการศึกษาเภสัชศาสตร์และวิชาชีพเภสัชกรรมของประเทศไทย ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น 1 ใน 131 ปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยมหิดล 

ผมได้มีโอกาสเรียนกับท่านอาจารย์ประดิษฐ์ในวิชาเภสัชอุตสาหกรรมในชั้นปีที่ 5 และผมจบเภสัชในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ในปีถัดมา มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ได้รับพระราชทานนามเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้โอนคณะเภสัชศาสตร์เดิมกลับไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท่านอาจารย์ประดิษฐ์และอาจารย์ส่วนหนึ่งได้แยกออกมา ก่อตั้งเป็นคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2511  เริ่มรับนักศึกษาใหม่ในปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

            ในช่วงที่ผมเรียนเภสัชมีคณะเภสัชศาสตร์เพียงแห่งเดียวในประเทศ มีเภสัชกรทั้งประเทศราว 1,500 คนเท่านั้น อาจารย์ที่คณะเป็นที่ยอมรับนับถือจากทุกวงการทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ด้านเภสัชเคมีก็มีอาจารย์ไฉน สัมพันธารักษ์ อาจารย์สสี ปันยารชุน ด้านเภสัชอุตสาหกรรมมีอาจารย์ประดิษฐ์  หุตางกูร ด้านการวิเคราะห์มีอาจารย์ประณต ชุมแสง   ด้านโรงพยาบาลมีอาจารย์ฉวี บุนนาค ด้านสมุนไพรมีอาจารย์วิเชียร จิรวงส์ เป็นต้น 

เมื่อมีการปรับปรุง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2493 ศาสตราจารย์ จำลอง สุวคนธ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้น ร่วมกับ อดีตคณบดี และอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการจัดทำ พ.ร.บ. ยา 2510 เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตยา การขายยา ให้เป็นแบบสากล นับเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญของวงการเภสัชกรรมไทยและวิชาชีพเภสัชกรรม กล่าวคือ ด้านการผลิตยา มีการกำหนดให้ต้องมีเภสัชกรอย่างน้อย  2  คน (อย่างน้อยมีฝ่ายผลิตและฝ่ายควบคุมคุณภาพ) สถานที่ผลิตยาต้องแยกจากที่อยู่อาศัย  ทำให้ “เล่าเต้งฟาร์มาซี” ต้องสลายตัวไป  โรงงานยาต้องมีสถานที่ผลิตแยกเป็นสัดส่วนโดยเฉพาะ มีเครื่องมือผลิตของตนเอง และมีเครื่องมือวิเคราะห์ยาที่ตนผลิตอย่างพอเพียงจึงจะขอขึ้นทะเบียนยาได้  ยาแต่ละรุ่นผลิตต้องมีเภสัชกรลงชื่ออนุมัติผลวิเคราะห์ก่อนการปล่อยยาออกจำหน่าย ร้านขายยาจะต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาเปิดทำการ นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เภสัชกรมีสถานะทางสังคมที่ชัดเจน ทำให้เภสัชกรได้เข้าไปดูแลกำกับการผลิตและการกระจายยาอย่างครบวงจร  

พ.ร.บ. ยา  2510  มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.  2511  ซึ่งรุ่นผมจบมาพอดี นับเป็นรุ่นที่เภสัชกรเป็นของหายาก มีคนจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ หลายคนได้ไปอยู่ประจำที่ร้านขายยา ได้ทำหน้าที่ของเภสัชกรจริง ๆ โรงงานยาก็ต้องการเภสัชกรเพิ่มเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย นับว่าท่านอาจารย์ประดิษฐ์ได้ทำคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้แก่วิชาชีพเภสัชกรรม  แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้เรายังไม่สามารถทำตามเจตนารมย์ของกฎหมายได้ทั้งหมด

            ในด้านการศึกษาเภสัชศาสตร์ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ได้ก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มจากการรับอาจารย์ใหม่ทั้งที่เป็นเภสัชกรและอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ จัดทำหลักสูตรขึ้นใหม่ให้ทันสมัย มีวิชาเภสัชกรรมคลินิกแยกออกจากวิชาเภสัชกรรมโรงพยาบาล  เริ่มมีการสอนวิชา Biopharmaceutics and Pharmacokinetics เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยที่ยังไม่มีอาจารย์ที่เรียนมาด้านนี้ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์เป็นผู้สอนเอง เมื่อผมเรียนจบปริญญาเอกกลับมาจากต่างประเทศในปี พ.ศ. 2517  ได้มาเริ่มรับราชการที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ได้รับมอบงานที่อาจารย์ประดิษฐ์สอนอยู่บางวิชา เช่น วิชา Physical Pharmacy วิชา Pharmaceutical Preparations ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม และคณะได้เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา ปริญญาโท และ ปริญญาเอก นับเป็นแห่งเดียวที่มีนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นิยมเข้ามาเรียน จึงเป็นแหล่งผลิตอาจารย์ที่สำคัญให้คณะต่าง ๆ         

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์เป็นผู้เสียสละเวลาและทุ่มเทสติปัญญาเพื่อพัฒนาการศึกษาและวิชาชีพเภสัชกรรม มุ่งมั่นเพื่อส่วนรวมตลอดชีวิตการทำงานของท่านทั้งในช่วงเวลาที่รับราชการและหลังจากเกษียณอายุ แม้ว่าเวลาผ่านมา 100 ปีแล้ว ผลงานและคุณงามความดีที่ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ได้ฝากไว้ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเราชาวเภสัชมหิดลและเภสัชกรทุกคนชั่วกาลนาน 

บทความอื่นๆ จากบุคลากรและผู้เกษียณฯ

อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ผู้อยู่ในความทรงจำของดิฉันเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ม.แพทยศาสตร์ ที่เรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ดิฉันรับรู้ได้ว่า อาจารย์ประดิษฐ์ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่จะอ...

พจนีย์ สุริยะวงค์ ลูกศิษย์ และอาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา

อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ในความทรงจำเมื่อเอ่ยนามอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ทุกคนคงจะนึกถึงอาจารย์ที่สูงสง่าน่าเกรงขาม มีความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล อาจารย์สนับสนุนให้มีการก่อตั้งร้านยา เพื่อเป็...

ยุวดี วงษ์กระจ่าง อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล อาจารย์ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ สมใจ นครชัย อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา

“100 ปี แห่งชาตกาล อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร”เนื่องในโอกาสที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีการจัดงาน “100 ปี แห่งชาตกาล อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร” อดีคคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่...

นางแก้วมณี คุ้มภัย เจ้าหน้าที่บุคคลและเลขานุการคณบดี

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา