บุคลากรรำลึก

ความรู้สึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ จากบุคลากรปัจจุบันและบุคลากรที่เกษียณอายุราชการ
   

โดย ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ ลูกศิษย์ และอาจารย์ภาควิชาเภสัชกรรม

1270  Views  

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร

ครูผู้บุกเบิก ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้เสียสละ

          

เป็นความโชคดีที่ดิฉันสอบติดคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นคณะเภสัชศาสตร์คณะเดียวของประเทศ ณ ขณะนั้น และเป็นรุ่นแรกที่ต้องมาเรียน ชั้นปีที่ 1, 2 ที่คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นทางสายวิทย์ฯ (ท่าน ศ.ดร. กำจร มนุญปิจุ เป็นคณบดี) เมื่อขึ้นปีที่ 3 ได้ข้ามฟากมาเรียนยังคณะเภสัชศาสตร์ ม.แพทยศาสตร์ เป็นตึกที่เรียนอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม เป็นอาจารย์ที่ใจดี ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์เป็นอย่างดี ซึ่ง ณ ขณะนั้นคาดว่าท่านคงจะต้องมีงานยุ่งมาก ๆ เพราะภายหลังทราบว่า ท่านต้องรับผิดชอบวางแผนเตรียมงานร่วมกับท่านอาจารย์ผู้ใหญ่อีกหลายท่าน เพื่อวางแผนจัดตั้งคณะเภสัชฯ คณะใหม่ คือ คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2511 และพร้อมกับที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระราชทานนามใหม่ คือ “มหาวิทยาลัยมหิดล”

          ท่านอาจารย์ได้รับมอบหมายให้เป็นคณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเตรียมแผนเปิดคณะเภสัชฯ ในปี พ.ศ. 2514 นอกจากอาจารย์ส่วนหนึ่งของคณะเภสัชศาสตร์เดิมที่จะย้ายมาแล้ว ได้มีการเปิดรับบัณฑิตใหม่ที่จบจากคณะเภสัชฯ มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.แพทยาศาสตร์เดิม) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 มี 1 ท่าน ดิฉันจบปริญญาตรีเภสัช พ.ศ. 2513 โดยในรุ่นนี้ มีสมัครเป็นอาจารย์ใหม่ บรรจุในภาควิชาที่ต่าง ๆ กันถึง 7 คน พวกเราได้ทำงานอยู่ที่ตึกเดิม ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ปี และย้ายมาอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2514 โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” และในปีถัดมา คือ พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา จัดตั้ง “คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และให้โอนทรัพย์สินและบุคลากรทั้งหมดจากคณะเภสัชศาสตร์คณะแรก ของ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ไม่รวมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) ให้ยังคงเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามเดิม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหิดล

          ในปี พ.ศ. 2514 เมื่อได้ย้ายมาอยู่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เต็มรูปแบบ ท่านอาจารย์ได้วางแผนพัฒนาการเรียนการสอน ทั้งบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ในการเรียน การสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการวิจัย นักศึกษาปริญญาตรี โท เอก อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้บุคลากรรุ่นใหม่ได้มีการพัฒนาตนเอง โดยเปิดโอกาสให้มีการสอบชิงทุนต่างๆ เพื่อการศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่านได้วางแผนทำความร่วมมือกับกรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ (ปัจจุบันคือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) ซึ่งได้รับความร่วมมือให้มีทุน Colombo Plan ให้คณาจารย์ของคณะได้สอบแข่งขันชิงทุนเพื่อการศึกษาต่อ ณ ประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศออสเตรเลีย เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โดยได้มีบุคลากรของคณะฯ ได้รับทุนนี้กว่าสิบคน นอกจากนี้ ท่านยังได้วางแผนในการจัดหลักสูตร ระดับ ปริญญาโท-เอกของคณะฯ เมื่อบุคลากรพร้อม เพื่อการเตรียมความพร้อมของบุคลากรสายวิชาการให้แก่คณะเภสัชศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงทำให้การศึกษาเภสัชศาสตร์ของประเทศเจริญพัฒนาก้าวไกลทัดเทียมนานาอารยประเทศจวบจนปัจจุบันนี้

สำหรับด้านการวิจัยนั้น นอกจากการวิจัยในสาขาต่าง ๆ ทางเภสัชศาสตร์แล้ว นับได้ว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกการวิจัยแปรรูปสมุนไพรไทยให้อยู่ในรูปแบบของยาสมุนไพรแผนปัจจุบันเป็นแห่งแรกของประเทศ ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้ โดยเมื่อดิฉันได้สอบชิงทุน Colombo Plan ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2517 จบปริญญาเอกทางด้าน Pharmaceutics กลับมาปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2523 ได้เริ่มทำงานวิจัย พร้อมกับการสอนนักศึกษา วันหนึ่งท่านอาจารย์ได้บอกว่า อ.ปลื้มจิตต์ ลองเอาเมล็ดแมงลักมาแปรรูปให้เป็นยาระบาย เหมือน Metamucil? จะได้มั้ย จึงได้มีการร่วมทีมวิจัยโดยมีท่าน อ.สุทิน สิริไพรวัน เป็นหัวหน้าทีมและมีอาจารย์อีกหลาย ๆ ท่าน โดยมี อ.ปลื้มจิตต์ ทำหน้าที่พัฒนาตำรับ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเมล็ดแมงลักผง เมื่อพองตัวในน้ำจะเป็นอนุภาคเล็ก ๆ สีดำ พองตัวอยู่ในน้ำสีแดงเรื่อ ๆ กลิ่นสตรอเบอรี่หอมหวาน และได้ทำการวิจัยทางคลินิกร่วมกับท่าน นายแพทย์วีระสิงห์ เมืองมั่น  ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีในขณะนั้น ผลปรากฏว่า ใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยสูงวัย และผู้ป่วยผ่าตัดที่ส่วนใหญ่ต้องนอนพักเป็นระยะเวลานาน ร่างกายเคลื่อนไหวน้อย เกิดอาการท้องผูก ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ในช่วงนั้นได้ทำผลิตภัณฑ์จำหน่าย ณ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนของคณะฯ จำหน่ายดีมากจนกระทั่งฝ่ายผลิตทำไม่ทัน ทำชื่อเสียงให้แก่คณะเภสัชฯ เป็นอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จำเป็นต้องยุติการปฏิบัติงานของผลิตภัณฑ์เมล็ดแมงลักผง

          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ ได้ดำริให้มีการวิจัยพัฒนาแปรรูปสมุนไพรให้เป็นยาสมุนไพรแผนปัจจุบันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ได้จุดประกายให้กับดวงใจเล็กๆ ของอาจารย์ผู้น้อยของคณะเยี่ยงดิฉัน กอปรกับเป็นเชื้อสายลูกหลานหมอยาไทย จึงทำให้มีใจรักในการวิจัยพัฒนาสมุนไพรเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้

          นอกจากงานวิจัยพัฒนาของคณะฯ แล้ว ท่านอาจารย์ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาสุขภาพอนามัย และสวัสดิการของบุคลากร ท่านได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรมกีฬาอาจารย์และข้าราชการ ของคณะฯ ขึ้น ท่านอาจารย์ชอบเล่นกีฬาแบดมินตันมาก เมื่อครั้งคณะฯ ยังตั้งอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดิฉันเป็นนักกีฬาแบดฯ ของคณะฯ ตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นปีที่ 3, 4 จะมีการซ้อมเป็นบางครั้ง ณ คอร์ตแบดฯ กลางแจ้งของคณะฯ (ส่วนใหญ่ซ้อม ณ คอร์ดแบดฯ ของกรมทหารสรรพาวุธ บางซื่อ) เมื่อท่านอาจารย์ว่าง ยังเคยลงมาเล่นด้วย เป็นคู่ซ้อมให้บ้าง ดังนั้น เมื่อครั้งเรียนจบและกลับมาทำงานที่คณะฯ แล้ว ได้ขออนุญาตท่านอาจารย์ จัดตั้งชมรมกีฬาอาจารย์และข้าราชการขึ้น ท่านจึงอนุญาต พร้อมกับขออนุญาตท่านจัดทำเป็นสลากการกุศลเพื่อหาทุนให้กับชมรมฯ ด้วยการทำสลากการกุศลเล่มละ 5 ใบ 100 บาท โดยท่านอาจารย์ได้ประเดิมยก 1 เล่ม 100 บาท ซึ่งท่านอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านจะช่วยอุดหนุนท่านละ 1 เล่ม (ช่วงเวลานั้นเงินเดือนข้าราชการเด็ก ๆ จะได้ 1,300 บาท/ เดือน) ในกิจกรรมครั้งนั้น ได้เงินประเดิมให้ชมรมฯ ถึง สี่พันกว่าบาทซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ชมรมฯ ทำให้ได้มีกิจกรรมร่วมกับชมรมกีฬาของนักศึกษา เป็นประจำทุกปี นับเป็นคุณูปการจากท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง

          ท่านเป็นครูผู้ริเริ่มอย่างแท้จริง มีหลายสิ่งหลายอย่าง ยากที่จะกล่าวได้หมด ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะงานสำคัญบางอย่าง อาทิ ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านขายยา) และสถานปฏิบัติการเภสัชอุตสาหกรรม (โรงงานยา) เป็นแห่งแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นต้นแบบให้แก่คณะเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตาม

          ส่วนทางด้านวิชาการอื่น ๆ ท่านได้สนับสนุนให้มีการจัดประชุมวิชาการทั้งในประเทศและร่วมกับต่างประเทศอยู่เสมอ ๆ รวมทั้งสนับสนุนให้มีความร่วมมือการทำวิจัยร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่นกัน และยังสนับสนุนให้อาจารย์ที่จบปริญญาเอกเดินทางไปศึกษาต่อและทำวิจัยหลังปริญญาเอก เมื่อทั้งตัวอาจารย์เองและภาควิชาพร้อมซึ่งโดยส่วนตัวของท่านอาจารย์เอง ท่านเป็นผู้เสียสละอย่างสูงเพื่อส่วนรวม ท่านทำงานให้แก่ส่วนรวมอย่างไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย หรือความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการของท่านเอง ท่านมิได้วิตกกังวลในเรื่องของการทำวิจัยให้กับตัวท่านเอง เพื่อต้องการผลงานเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของท่าน ท่านได้ใช้เวลาว่างของท่านวางแผนงานการสร้างและพัฒนาคณะฯ อย่างต่อเนื่อง มิได้คำนึงถึงตัวท่านเองเลย ในเวลาว่างช่วงเย็น หากพวกเราที่ทำงานอยู่เย็น ๆ ท่านจะแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ถามถึงสารทุกข์สุขดิบ ความเป็นอยู่ของพวกเรา การปฏิบติงาน ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ท่านจะเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของพวกเราในทุก ๆ ด้าน รวบรวมและนำกลับไปวางแผนพัฒนาคณะฯ ของเราอยู่เสมอ ๆ ท่านจะให้ความเป็นกันเองกับพวกเรามาก ท่านบอกพวกเราว่า ประตูห้องท่านเปิดรับพวกเราอยู่เสมอ ใครมีปัญหาอะไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร ให้ไปเคาะประตูห้องท่านได้ตลอดเวลา ท่านจะปฏิบัติตัวเหมือนพ่อกับลูก ๆ ของท่าน

          ความประทับใจอย่างสูงสุดของดิฉันที่มีต่อท่านอาจารย์ เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2517 ที่สอบชิงทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เดิมสายการบินแจ้งว่า จะออกเดินทางประมาณสามทุ่มกว่า ท่านอาจารย์ก็ได้ถามว่าเดินทางกี่โมง ดิฉันก็เรียนท่าน โดยไม่ได้เฉลียวใจว่าท่านจะกรุณาไปส่งที่สนามบิน พอตกเย็นสายการบินได้โทรมาแจ้งว่าจะช้ากว่ากำหนด ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ไม่ได้โทรไปกราบเรียนท่าน พอพวกเราไปถึงที่สนามบิน ได้พบท่านรออยู่นานแล้วกว่าชั่วโมง ต้องกราบขอประทานโทษท่านที่ไม่ได้โทรให้ท่านทราบ นับว่าเป็นความเมตตากรุณาของท่านเป็นอย่างสูง เปรียบเสมือนพ่อดูแลห่วงใยลูกสาวที่จะต้องจากอกไปไกลต่างแดน

          นับว่าท่านได้มองการณ์ไกลในการสร้างเสริมประสบการณ์ให้บุคลากรของคณะฯ มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ แข็งแรง เพิ่มวิทยายุทธทางวิชาการต่าง ๆ ให้อาจารย์ได้มีประสบการณ์ในการที่จะนำมาพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติ ทำให้ในสมัยของท่านอาจารย์และต่อ ๆ มา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะเภสัชศาสตร์ที่โดดเด่นทางวิชาการ การเรียนการสอนที่เข้มข้น ตามมาด้วยการวิจัยที่ดีเยี่ยมเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นคณะเภสัชศาสตร์ชั้นแนวหน้า จวบจนทุกวันนี้

ด้วยความเคารพรักอย่างสูง

บทความอื่นๆ จากบุคลากรและผู้เกษียณฯ

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ที่ผมเคารพนับถืออย่างสูง เมื่อผมมาทำงานเป็นอาจารย์ ที่ คณะเภสัช มหาวิทยาลัยมหิดล คนรับผมเข้าทำงาน คือ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ที่ผมแทบไม่เคยคุยกับท่านเลย สมัยที่ผมเป็นนักศ...

อาจารย์ สักก์สีห์ (ธนา) คุณวิภูศิลกุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์

รำลึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร          ถ้าเอ่ยชื่อ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ทุกคนก็จะรำลึกถึงบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยม...

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย

เคารพรักและระลึกถึง อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร สมัยเป็นนักศึกษา ด้วยบุคคลิกเคร่งขรึมแต่แววตาใจดีมีเมตตาของอาจารย์ประดิษฐ์ทำให้รู้สึกทั้งเคารพและยำเกรงเวลาสอนนอกจากวิชาการ อาจารย์จะสอนความรับผิดชอบใ...

ยุพิน รุ่งเวชวุฒิวิทยา ศิษย์เภสัชมหิดลรุ่น 1 และอาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา