บุคลากรรำลึก

ความรู้สึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ จากบุคลากรปัจจุบันและบุคลากรที่เกษียณอายุราชการ
   

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง เฉลิมศรี ภุมมางกูร ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

864  Views  

บูชาคุณครู “ประดิษฐ์ หุตางกูร

 

ก่อนเริ่มบทความนี้ขอบูชาคุณครูด้วยบทร้อยกรองของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ครูคือครู

“ใครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้ ใช่อยู่ที่ปริญญามหาศาล

ใช่อยู่ที่เรียกว่า ครู อาจารย์ ใช่อยู่นานสอนนานในโรงเรียน

ครูคือผู้ชี้นำทางความคิด ให้รู้ถูก รู้ผิด คิดอ่านเขียน

ให้รู้ทุกข์ รู้ยาก รู้พากเพียร ให้รู้เปลี่ยนแปลงสู้รู้สร้างงาน

ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์ ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน

ครูคือสั่งสมอุดมการณ์ มีดวงมานเพื่อมวลชนใช่ตนเอง

ครูจึงเป็นนักสร้างผู้ใหญ่ยิ่ง สร้างคนจริง สร้างคนกล้า สร้างคนเก่ง

สร้างคนให้ได้เป็นตัวของตัวเอง ขอมอบเพลงนี้มาบูชาครู”

ถ้าจะให้ระลึกถึงความทรงจำและความประทับใจกับคุณครูประดิษฐ์ จะขอย้อนหลังตั้งแต่สอบ entrance เข้าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปี พ.ศ. 2503 ผ่านข้อเขียนแล้วสอบสัมภาษณ์จำได้แม่นว่า อาจารย์ประดิษฐ์เป็นกรรมการสอบ ท่านเห็นหน้าปั๊บท่านบอกเลยว่า “อยากเรียนเภสัชเหรอ” “เรียนเภสัชต้องเก่งเคมีนะ” “แต่คะแนนเคมีคุณไม่ดีเลย" แล้วท่านก็ไม่ได้พูดอะไรอีก จำได้ว่ากลัวมากว่าจะไม่ติดเภสัช แต่ตัวเราเองเป็นคนชนิดที่ชอบพูดตรงไปตรงมา กลับประทับใจในตัวอาจารย์มาก ผลประกาศออกมาปรากฏว่าติดคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้เป็นที่ 3 รองจากสุดท้าย นี่คือความประทับใจครั้งแรก เมื่อ ปี พ.ศ. 2503

เมื่อเรียนจบเภสัชศาสตรบัณฑิต ปี พ.ศ. 2508 อยากเป็นอาจารย์มากปรากฏว่าไม่มีตำแหน่งในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แต่กลับมีตำแหน่งอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำต้องจากแม่ไปไกล เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่จนมีลูกศิษย์สำเร็จการศึกษา 2 รุ่น ก็ลาออกมา (ฮอร์โมนแรง ใจร้อน) เมื่อนักศึกษาสอบเสร็จ ทำคะแนน ส่งคะแนนเสร็จ ลาออกมาอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ทำงาน คุมร้านอย่างเดียวตอนเย็น ส่วนเวลากลางวันเฝ้าพยาบาลแม่ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬา

มีพรรคพวกบอกว่ามีตำแหน่งอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ขณะนั้นยังสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยเป็นคณะเภสัชศาสตร์คณะที่สองของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์เป็นคณบดี เลยไปพบกับท่าน ท่านซักอยู่นานในที่สุดท่านก็รับเป็นอาจารย์ แต่ฝึกการสอน (คุม lab) ที่คณะเภสัชศาสตร์คณะแรกของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กลับมาทราบภายหลังว่าการที่ท่านรับเราเข้าทำงาน ทำให้ท่านผิดใจกับเพื่อนเก่าของท่าน ท่านกล่าวว่า “เพราะ คุณคนเดียว ทำให้คุณ......ไม่พูดกับผมไป 2 ปี” นี่คือความประทับใจครั้งที่ 2 จึงเป็นพลังให้เราต้องทำงานให้เต็มความสามารถที่ท่านกรุณาเรา แม้กระทั่งผิดใจกับเพื่อนสนิทของท่าน ก็ยังยอม

ตลอดเวลาทำงานที่คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตนเองไม่เคยประจบสอพลอ แต่จะมีคนไปฟ้องท่านอยู่ตลอดเวลา "เฉลิมศรีมาทำงานสาย" "เฉลิมศรีไม่มาทำงาน" เป็นประจำ ในที่สุดท่านก็เรียกไปตักเตือนแบบผู้ใหญ่ เสียใจเหมือนกัน แต่ไม่นาน พระคุณท่านเหนือกว่าสิ่งอื่นใด

ในขณะทำงาน ห้องทำงานโต๊ะทำงานเบียดเสียดกันมาก ก็ไม่เคยปริปากบ่นจนกระทั่งมีอาจารย์รุ่นน้องไปขอห้องทำงานเป็นเอกเทศ ท่านพูดว่า “คุณเฉลิมศรีเขาเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ เขายังไม่เคยเรียกร้องเลย" (ทราบภายหลัง) นับเป็นความประทับใจครั้งที่ 3 ท่านไม่เคยชมใครต่อหน้า

การปฏิบัติงานในสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านยา) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในตำแหน่งประธานฝ่ายวิชาการ (ต้องคอยจัดอาจารย์ลงขายยาในร้านยาของคณะทุก ๆ เทอม ปัญหามากมาย เพราะอาจารย์ที่ขายยาต้องลงบัญชีขายยาอันตรายก่อนหมดเวลาพร้อมเซ็นชื่อกำกับ ปรากฏว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติ ขายยาเสร็จ เธอก็ออกจากร้าน จึงเป็นหน้าที่ของเราในฐานะประธานฝ่ายวิชาการ ต้องเป็นผู้ทำบัญชีทุกครั้งจนหมดความอดทน จึงเข้าไปกราบเรียน ท่านว่า เราได้แอบอ้างชื่อท่านว่า "อาจารย์ประดิษฐ์สั่งว่าให้อาจารย์...................ทำบัญชีขายยาอันตรายทุกครั้ง" จากคำสารภาพเสร็จ ท่านพูดว่า “คุณเฉลิมศรีถ้าคุณเห็นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคณะฯ คุณทำไปเลย ผมรับผิดเอง" อันนี้เป็นความประทับใจครั้งที่ 4

ในปี พ.ศ. 2516 ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ซึ่งเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ท่านได้ขอทุน ก.พ. ให้อาจารย์ไปศึกษาปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิก อันที่จริงท่านขอทุน ก.พ. มาเป็นปีที่ 3 แล้ว ถ้าในปีนี้ไม่มีใครสอบได้อีก ทุนนี้จะถูกยุบไปโดยปริยาย ขอสารภาพความจริงว่า ขณะที่ไปสอบชิงทุน ก.พ. นั้น ตัวเองยังไม่รู้เลยว่าคืออะไร รู้แต่ว่าเป็นคำใหม่และน่าสนใจ จึงไปสมัครสอบและได้ สู้เพื่อท่านอาจารย์ประดิษฐ์ และสู้เพื่อแม่

ก่อนหน้าที่จะไปทำการสอบชิงทุนนี้ ความที่เป็นครูและอยากไปเมืองนอกโดยข้อคิดที่ว่า การเป็นครูจะหยุดแค่ปริญญาตรีไม่พอ ขณะนั้นไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ Alliance Francais (สถาบันสอนภาษาฝรั่งเศส) อยู่ที่ถนนสาทรและเมื่อมีทุนฝรั่งเศส ด้วยความที่เป็นข้าราชการต้องขออนุมัติเจ้าสังกัด (คณบดีอาจารย์ประดิษฐ์) เพื่อไปสอบ ท่านเรียกเข้าไปคุย จบด้วยว่าไม่อนุมัติไปสอบด้วยเหตุผลที่ว่าฝรั่งเศสยังไม่มีหลักสูตรเภสัชกรรมคลินิกในขณะนั้นเป็นความประทับใจครั้งที่ 5 ท่านทราบได้อย่างไร ต่อมาจึงรู้ว่าท่านรู้จริง ดังนั้นเมื่อมีทุน ก.พ. มาที่คณะ ท่านจึงให้เราไปสอบดู ผลก็คือเป็นตัวตนของเฉลิมศรีจนปัจจุบันนี้

ระหว่างที่ไปเรียน ปริญญาโท เภสัชกรรมคลินิกที่ Purdue University (สถาบันเดียวกันกับท่านอาจารย์ประดิษฐ์สมัยที่ท่านเรียน ปริญญาโท) ท่านมีจดหมายถึง 1 ฉบับสั้น ๆ และได้ใจความให้กลับมาช่วยสร้างหลักสูตรเภสัชกรรมคลินิก จึงนับได้ว่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทยที่มีหลักสูตรเภสัชกรรมคลินิกที่ถูกต้อง มาถูกทาง ท่านลงท้ายจดหมายว่า “คุณคงเรียนหนักตามเคย” ซึ่งยังเก็บจดหมายฉบับนี้ไว้จนปัจจุบันนี้

จดหมายอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ถึงอาจารย์เฉลิมศรี ภุมมงกูร

 

เมื่อเรียนจบปริญญาโทในสาขาเภสัชกรรมคลินิกจากอเมริกาแล้ว ความจริงน่าจะเรียนต่อปริญญาเอก แต่ในขณะนั้นที่ Purdue University ไม่มีปริญญาเอกสาขานี้ เลยคิดว่าจะเรียนปริญญาเอกสาขา Clinical Pharmacology แทน การจะเปลี่ยนสาขาที่เรียน ก.พ. กำหนดว่าจะต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าสังกัดเสียก่อน ซึ่งเรากว่าจะทำเรื่องอนุมัติเปลี่ยนสาขา เกินเวลากำหนด จึงกลับบ้าน

เริ่มปฏิบัติงานจัดการเภสัชกรรมคลินิกในหลักสูตรปริญญาตรีร่วมกับ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ธิดา นิงสานนท์ ดังได้กล่าวแล้วท่านอาจารย์ประดิษฐ์เป็นผู้ที่มีความเข้าใจเภสัชกรรมคลินิกที่ถูกต้องและลึกซึ้ง ท่านจัดให้มีกิจกรรมเภสัชกรรมคลินิกที่ปฏิบัติได้ ดังนี้

1. หลักสูตรการเรียนการสอนเภสัชกรรมคลินิก ทั้งระดับ ป.ตรี และ ป.โท

2. คลังข้อมูลยา (drug information Center)

3. ร้านยา (community pharmacy)

4. Drug counseling

5. Adverse drug reaction monitoring (ADRM)

6. การตรวจวัดระดับยา (therapeutic drug monitoring)

7. Aseptic dispensary care

ในแต่ละกิจกรรมจะเห็นได้ว่าอาจารย์ประดิษฐ์มีความเข้าใจเภสัชกรรมคลินิกที่ลึกซึ้งว่าต้องปฏิบัติจริง ปฏิบัติได้ เข้าถึงผู้ป่วยหรือผู้ใช้ยา กิจกรรมเภสัชกรรมคลินิกไม่ใช่การตรวจวัดระดับยาหรือการหาเภสัชจลนศาสตร์ของยาในคนไข้ ต่อมาปี ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) Linda Strand ได้บัญญัติศัพท์ Pharmaceutical care (การบริบาลทางเภสัชกรรม) ขึ้นมา ความหมายง่าย ๆ คือ กิจกรรมใดก็ตามต้องไม่ใช้ผู้ป่วยเป็นตัวทดลอง แต่กิจกรรมดังกล่าวต้องมีตัวผู้ป่วยเป็นหลัก ผู้ป่วยหรือผู้ใช้ยาต้องได้ประโยชน์จากกิจกรรมดังกล่าว

กิจกรรมที่ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ได้ริเริ่มขณะที่ผู้เขียนยังเป็นครูที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ กิจกรรมเด่นดังกล่าวมี (ซึ่งความจริงมีอีกหลายกิจกรรมที่ท่านเป็นผู้ริเริ่ม เช่น โรงงานยา และอื่น ๆ )

1. คลังข้อมูลยา (drug information Center DIC)

2. ร้านยา (community pharmacy)

 

งานคลังข้อมูลยา

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ท่านให้ความเห็นไว้ว่าเภสัชกรควรมีความรู้เรื่องยาอย่างดี ผลงานเริ่มแรกของคลังข้อมูลยา คือ จัดทำ “ตำรายาใหม่” มีมากกว่า 10 เล่ม ต่อมาท่านเล็งเห็นว่าการเขียนหนังสือยาใหม่อย่างเดียวไม่พอ ควรเข้าถึงประชาชนมาก ๆ จึงจัดตั้งหน่วยคลังข้อมูลยาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีการบริการตอบปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวกับยา มีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาเภสัชกรรมคลินิกมาคอยให้บริการตอบปัญหาเรื่องยา

ความประทับใจของผู้เขียนต่อท่านอาจารย์ประดิษฐ์ไม่ใช่มีเพียง 5 อย่าง ที่กล่าวมาเป็นเพียงความทรงจำเด่นเท่านั้น อันที่จริงความประทับใจที่มีต่อท่าน มีทั้ง บุคลิกภาพ (ท่านเป็นคนเรียบง่าย แต่งกายสะอาด) กิจวัตรประจำวัน (สมถะ) ท่านไปประชุมที่ใดก็ตามท่านต้องกลับมาคณะและรับประทานอาหารประจำของท่านคือ ข้าวผัด ไม่มักมาก (รถประจำตำแหน่งของท่านไม่เคยเปลี่ยน ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดี) ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีวินัย ความจริงใจและจริงจัง ท่านไม่เคยดูถูกใครและยังให้เกียรติทุกคนอย่างสม่ำเสมอ มีเมตตา รักวิชาชีพเภสัชกรรม

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ที่เป็นปูชนียบุคคลที่มีพระคุณต่อวิชาชีพอย่างสูงสุด ไม่อาจหาใครเปรียบได้ ท่านคือ บุคคลในอุดมคติ สมควรยกย่องตลอดชีวิต

วลีที่เฉลิมศรีจำได้ไม่รู้ลืมและไม่มีวันลืม แม้จะตายก็ตาม คือ

"การทำงานทางวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเฉพาะสาขาเภสัชกรรมคลินิก คือ ต้องรักมนุษย์

ถ้าหากมีใครมาถามฉลิมศรีว่า “ใครคือครูในดวงใจ ในอุดมคติของคุณ?"

เราจะตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า “นอกจากครูคนแรกคือพ่อแม่ของเราแล้ว ครูผู้นั้นคือ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร นั่นเอง” ท่านจะสถิตย์อยู่ในดวงใจของเฉลิมศรีตลอดไปนานเท่านาน

บทความอื่นๆ จากบุคลากรและผู้เกษียณฯ

อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ผู้อยู่ในความทรงจำของดิฉันเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ม.แพทยศาสตร์ ที่เรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ดิฉันรับรู้ได้ว่า อาจารย์ประดิษฐ์ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่จะอ...

พจนีย์ สุริยะวงค์ ลูกศิษย์ และอาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา

รำลึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร          ถ้าเอ่ยชื่อ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ทุกคนก็จะรำลึกถึงบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยม...

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย

"พระคุณที่ยิ่งกว่า  พระคุณที่สาม"ดิฉันเป็นศิษย์คนหนึ่งของ "ท่านอาจารย์ ประดิษฐ์ หุตางกูร" ผู้ก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนหลักสูตร 5 ปี รุ่นที่ 4 พ.ศ. 2502-2507 จบเป็นบัณฑิตเภสัชศา...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง เสริมสิริ วินิจฉัยกุล ภาควิชาชีวเคมี

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา