ศิษย์เก่ารำลึก

บอกเล่าประสบการณ์ผ่านประสบการณ์ตรงของศิษย์เก่าเภสัชมหิดล
   

โดย นภาพร อัชชนียะสกุล - ศิษย์เก่าเภสัชมหิดลรุ่นที่ 9

1992  Views  

“อาจารย์ขา..สวัสดีค่ะ” นี่คือ คำพูดติดปากของ*น้าหลา* พร้อมกับยกสองมือขึ้นประนมไหว้อย่างสวยงาม ทุกครั้งที่เดินสวนกับ อาจารย์ทุกท่านในคณะเภสัชตั้งแต่ปี3-5 คณะเภสัชของเราในสมัยน้าหลาเป็นคณะเล็ก ๆ มีอาจารย์เพียง 80-90 ท่าน นศภ.สามชั้นปี (ปี3-5) รวมแล้วไม่ น่าเกินสามร้อยคน น้าหลาจบเภสัชรุ่น 9 จ้ะ พวกเราหนุ่มหล่อสาวสวย Rx9 เก้าสิบกว่าคน ต้องเรียนที่ตึกกลมคณะวิทย์เมื่ออยู่ปี 1และ2 จากนั้น ต้นเดือนมิถุนายน 2522 เราก็พากันเดินข้ามถนนพระราม 6 เลียบไปตามโรงพยาบาลสงฆ์ซึ่งอยู่บน ถนนศรีอยุธยา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าคณะเภสัชจ้ะ 

ท่านคณบดีคณะเภสัชในขณะนั้นคือ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร หรือ *อ.ดิษฐ์*สำหรับศิษย์อย่างพวกเรา วิชาแรกที่น้าหลาและเพื่อน ๆ ได้เรียนกับท่าน คือ “ฟาร์มโอเลี้ยง” หรือ Pharmacy Orientation และสิ่งที่น้า หลาจดไว้ทั้งในสมุดเลคเชอร์และในสมอง คือประโยคเด็ดที่เล่าขานสืบทอดกันมา.. “From Here We Can Go Everywhere.” ในห้องเลคเชอร์ณ เวลานั้น น้าหลามองเห็นอาจารย์ผู้ใหญ่ซึ่งดูสง่าน่าเกรงขาม อยากบอกหลาน ๆ นศภ. Gen YและZ ว่า น้าหลาเคารพ อ.ดิษฐ์แต่ถ้าจะให้เข้าไปพูดคุยกับท่าน คงต้องขอบายก่อนนะจ๊ะ ยอมรับว่า ทั้ง เคารพทั้งเกรงจ้ะ การใช้ชีวิตสามปีในคณะเภสัช ทำให้น้าหลาค่อย ๆ ซึมซับว่า คณะเภสัชเป็นครอบครัวขนาดใหญ่อาจารย์ เกือบทุกท่านเรียกตนเองว่า“พี่” เพราะรัก(และดุบ้าง) นศภ.เหมือนน้อง และพวกเรามีท่านคณบดีเป็นหัวหน้า ครอบครัว 

 

อ.ดิษฐ์เปรียบเสมือนเป็น *พ่อครู* ของลูกศิษย์เพราะภายใต้ความน่าเกรงขาม ท่านแฝงความใจดีมีอารมณ์ ขัน มีความเมตตา มีความห่วงใย และมีความปรารถนาดีที่พร้อมจะมอบให้ศิษย์ทุกเมื่อ ท่านจึงเป็นทั้งพ่อและ ครูของ นศภ.ทุกคนจ้ะ ในปีการศึกษา 2522 คณะ ฯ ของเรามีเพียงแค่สี่อาคาร อาคารด้านหน้าเป็นห้องเลคเชอร์และมีห้องสมุดอยู่ ชั้นสอง ด้านหลังอาคารนี้มีห้องกระจก ซึ่งใช้เป็นสโมสรนักศึกษา ตั้งแต่เช้าก่อนเข้าเรียน, พักกลางวัน, บ่ายหลังเลิกทำแล็บ ตลอดไปจนถึงเย็นและค่ำ จะเป็นที่แฮงเอาท์ของ นศภ. จ้ะ นอกจากการคุยเจ๊าะแจ๊ะของหนุ่ม สาว บางคนก็มานั่งทำการบ้าน เล่นกีตาร์ร้องเพลง หรือ ช่วยกันติวตอนใกล้สอบ มีหนุ่ม Rx9 บางคนที่มีงานอดิเรกเล่นกีฬาในร่มประเภทรำพัด หนุ่ม ๆ เหล่านี้เป็นคนที่คิดเผื่ออนาคตจ้ะ เพราะเชื่อว่าเป็นการฝึกปรือสมอง ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ช่วงเย็น ๆ ก็จับกลุ่มตั้งวงหน้าห้องสโมสรเป็นประจำ เย็นวันหนึ่ง ขณะที่หนุ่ม ๆ ในวงกำลังฝึกสมอง ทุกคนมุ่งมั่นก้มหน้าก้มตาจดจ้องมุงดูว่า ใครจะเกเท่าไร? มี อาจารย์ท่านหนึ่งเดินเข้าไปร่วมมุงดูอย่างเงียบเชียบ ด้วยความสงสัย อาจารย์จึงสะกิดไหล่ของลูกศิษย์คนหนึ่ง แล้วถามด้วยเสียงค่อย ๆ ว่า “เล่นยังไง?” ลูกศิษย์ผู้โชคดีคนนั้นกำลังลุ้นหน้าดำหน้าแดง จึงไม่ได้หันหน้ามามองแม้สักนิดว่า ใครนะมาสะกิด เขาตอบสั้น ๆ ว่า “อย่าเพิ่งยุ่ง.. กำลังลุ้นอยู่!” แค่เพียงเดี๋ยวเดียว มีลูกศิษย์รายอื่นหันมามองเห็นอาจารย์เท่านั้นแหละจ้ะ บรรดานักกีฬาในร่มเปลี่ยน ประเภทกีฬา เป็นนักวิ่งเร็วทันทีทุกคนวิ่งกันกระเจิดกระเจิงราวกับฝูงผึ้งแตกรังเลยจ้ะ! น้าหลาเป็นลูกศิษย์ที่โชคดีมาก เพราะตลอดสามปีในคณะเภสัชจนถึงเรียนจบรับปริญญา น้าหลาได้สัมผัสถึง ความเมตตาห่วงใยและความปรารถนาดีจากพ่อครูหลายต่อหลายครั้ง

 

ปีการศึกษา 2522 เมื่อตอนอยู่ปี3 น้าหลาเริ่มขับรถไปเรียนตั้งแต่เช้า และจอดรถอยู่หน้าตึกเก่าที่อยู่ด้านหน้าคณะเป็นประจำ ตกบ่ายวันหนึ่ง หลังทำแล็บเสร็จจะขับกลับบ้าน รถก็เกิดอาการสตาร์ทไม่ติด น้าหลากำลังงงว่า จะทำอย่างไรดีช่างบังเอิญเสีย จริงที่อ.ดิษฐ์เดินผ่านมาเห็นเข้า (ตามปกติน้าหลาจะเห็นท่านเดินรอบ ๆ คณะอยู่บ่อย ๆ จ้ะ) อ.ดิษฐ์จึงบอก ให้น้าหลาเดินไปที่ห้องช่าง ซึ่งอยู่ด้านหลังของคณะ ให้มาช่วยจั๊มพ์แบตเตอรี่ให้จ้ะ 

 

ปีการศึกษา 2523 เมื่อตอนอยู่ปี4 วันที่28 กันยายน 2523 อ.ดิษฐ์เป็นประธานจัดงานเกษียณอาจารย์อาวุโสสองท่าน คือ อ.ฉวีและอ.เฉลา งานนี้ น้าหลาและเพื่อนสาว Rx9 พร้อมด้วยน้องรุ่น10 รำอวยพรด้วยจ้ะ

ปีการศึกษา 2524 เมื่อตอนอยู่ปี5 วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2524 มีงานครบรอบ 12ปีเภสัชศาสตร์มหิดล งานนี้เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 โดยจัด นิทรรศการให้ประชาชนเข้ามาชมภายในคณะ และคืนวันเสาร์ที่ 7 จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำที่โรงแรม คืนนั้นมีการ แสดงโดยศิษย์ปัจจุบัน(ปี3-5)สองชุด น้าหลาเป็นหนึ่งในนางรำชุดระบำนพรัตน์กว่างานจะเลิกก็เกือบสี่ทุ่ม น้าหลามีหน้าที่ต้องนำชุดนางรำสิบกว่าชุด ที่ไปเช่ามากลับบ้านด้วย เพื่อจะนำไปคืนที่ร้านในวันรุ่งขึ้น หลังงานเลิก น้าหลาไปขอใช้โทรศัพท์ที่ล็อบบี้โรงแรม (สมัยนั้นไม่มีมือถือนะจ๊ะ) เพื่อให้คุณแม่ขับรถมารับ ขณะที่กำลัง รอสาย อ.ดิษฐ์เดินผ่านมากำลังจะกลับเช่นกัน ท่านถามว่า “ทำไมยังไม่กลับ?” น้าหลารีบเรียนทันทีว่า “กำลังโทรให้คุณแม่มารับค่ะ” “เดี๋ยวผมไปส่งเอง” น้าหลาไม่อยากเชื่อเลยว่า ท่านจะมีเมตตากับเรามากขนาดนี้นอกจากขับรถไปส่งแล้ว ท่านยังช่วยน้าหลาหอบ หิ้วชุดนางรำอีกสิบกว่าชุด ที่แขวนอยู่บนไม้แขวนเสื้อ แล้วเดินไปส่งหน้าประตูบ้าน

หลังเรียนจบสี่เดือน ก็ถึงวันพฤหัสที่ 8 กรกฎาคม 2525 หนุ่มหล่อสาวสวย Rx9 เข้ารับพระราชทานปริญญาที่สวนอัมพร และจัด งานเลี้ยงสังสรรค์ฉลองปริญญา ณ โรงแรมบางกอกพาเลส ในวันเสาร์ที่10 งานนี้อ.ดิษฐ์กรุณามาเป็นประธาน กล่าวอวยพรลูกศิษย์รุ่น 9 ด้วยจ้ะ

ปีพ.ศ. 2526 แม้น้าหลาจะเรียนจบไปแล้ว ก็ยังได้กลับมารับใช้คณะ ฯ เนื่องจากมีการจัดงานเกษียณของ อ.ดิษฐ์ครั้งนั้นน้า หลาร่วมรำอวยพรชุดระบำสวัสดิรักษา โดยศิษย์เก่ารุ่น 1-10 จ้ะ นอกจากนี้เดือนตุลาคมในปีนั้น อ.ดิษฐ์ยังกรุณาไปเป็นประธานในการกล่าวอวยพร ในงานแต่งงานของน้าหลา ด้วยจ้ะ

 

เดือนพฤษภาคม 2528 เป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้าของน้าหลาจ้ะ ขณะนั้นน้าหลากำลังเรียนต่ออยู่ต่างประเทศ ได้รับจดหมายจากอ. เหลิม เล่าเรื่องการจากไปของ อ.ดิษฐ์ น้าหลาจำได้ว่า ร้องไห้อยู่หลายวัน รู้สึกเหมือนสูญเสียคุณพ่อผู้มีพระคุณ ภาพเรื่องราวดีๆ ในอดีต ค่อย ๆ กระจ่างชัดขึ้นมาในความทรงจำของน้าหลาอีกครั้ง

ความเคารพและความรู้สึกเกรง ที่น้าหลาเคยมีต่อท่านคณบดีเมื่อเริ่มย่างก้าวเข้าสู่การเป็น นศภ.ปี3 แต่ หลังจากเรียนจบ ความรู้สึกของน้าหลาเปลี่ยนไป เพราะมีโอกาสสัมผัสถึงความเมตตาของท่านหลายต่อหลาย ครั้ง ท่านไม่ได้เป็นเพียงครูผู้ประศาสน์ความรู้แก่ศิษย์แต่สิ่งมีค่าที่ท่านมอบให้พวกเรามากกว่านั้น คือ ความ เมตตา ความรัก ความห่วงใย.. เช่นเดียวกันกับที่ผู้เป็นพ่อมอบให้ลูกจ้ะ 

น้าหลาหวังว่า แม้หลาน ๆ นศภ. Gen YและZ ไม่มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งมีค่าเหล่านี้ด้วยตนเอง แต่เมื่อได้อ่าน เรื่องเล่านี้จะรับรู้ได้ว่า อ.ดิษฐ์ไม่เพียงแต่สร้างคุณูปการแก่คณะเภสัชของเราเท่านั้น ท่านยังเป็นศูนย์กลาง แห่งความรักของลูกศิษย์อีกด้วย

เมื่อใดที่หลาน ๆ เดินผ่านอนุสรณ์สถานของอ.ดิษฐ์จะได้ยกมือไหว้ด้วยความรักและเคารพ เช่นเดียวกันกับที่ บรรดาลูกศิษย์รุ่นก่อนรู้สึกจ้ะ ณ วันนี้เมื่อน้าหลาหวนคิดถึงประโยคเด็ดของ อ.ดิษฐ์ “From Here We Can Go Everywhere.” ทำให้น้าหลา มองเห็นตัวเองว่า คงเป็นเภสัชมหิดลที่ไม่ค่อยคิดอยู่ในกรอบมากนัก จึงทำให้มีประสบการณ์ในการทำงานแบบ Go Everywhereแตกต่างจากคนอื่น ๆ สักหน่อย เริ่มตั้งแต่งานเภสัชกรฝ่ายขายในบริษัทยา, งาน Pharmacy Technician (เนื่องจากตอนนั้นไม่ได้สอบ License ) ในโรงพยาบาลเอกชนเล็ก ๆ สองแห่ง ในเมือง ลอสแอนเจลิส ทำให้มีประสบการณ์ทั้งการจัดยาแบบ Unit dose, การเตรียม IV Piggyback, การเตรียม น้ำเกลือและ TPN สำหรับคนไข้ใน น้าหลาทำงานทุกวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ ตลอดสองปีกว่าที่ เรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจ้ะ แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยและทำธุรกิจส่วนตัว เภสัชกรหญิงนภาพร (น้าหลาเองจ้ะ) เป็นบรรณาธิการนิตยสาร รายเดือนสำหรับเด็กชั้นประถม จึงมีบทบาทเป็นครูของเด็กประถมทั่วทั้งประเทศ คล้ายกับการที่เภสัชกร ชุมชนให้บริการเชิงรุกกับชาวบ้านในชุมชน แต่งานของน้าหลาเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน โดยมุ่งเน้นให้ เด็ก ๆ เริ่มรู้จักอ่านแบบคิดวิเคราะห์อีกทั้งยังสอดแทรกเนื้อหาง่าย ๆ ในคอลัมน์*สุขภาพของหนู* เพื่อสอน ให้เด็กสนใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและหลีกเลี่ยงอบายมุขจ้ะ

จากประสบการณ์ตรงของน้าหลาหลายสิบปีวิชาชีพเภสัชทุกแขนงได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากสังคม แต่ก็ มีความคาดหวังจากสังคมตามมาด้วยนะจ๊ะ ดังนั้น น้าหลาจึงทำงานอย่างภาคภูมิใจ และทำเต็มความสามารถ เพื่อให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากเด็ก ๆ รวมไปถึงผู้ปกครอง และคุณครูประถมทั่วประเทศ ...นับตั้งแต่วันแรกที่อ.ดิษฐ์มีความตั้งใจอันแน่วแน่ ที่จะก่อตั้งคณะเภสัชมหิดลให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเพิ่มการ ผลิตเภสัชกรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากขณะนั้นขาดแคลนเภสัชกรอย่างมาก ...จนกระทั่งถึงวันนี้เรามีเภสัชมหิดลตั้งแต่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ไปจนถึง Gen X, Y และ Z แต่ละรุ่นเปรียบเสมือน จิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ หนึ่งชิ้น หากถูกนำมาปะติดปะต่อกัน โดยทุกรุ่นช่วยกันต่อ ช่วยกันหยิบ ช่วยกันเลือก เราจะ ได้ภาพขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์แบบสวยงามของครอบครัวเภสัชมหิดล ที่มีความสามัคคีพร้อมใจกันทำประโยชน์ เพื่อคณะของเรา

 

เนื่องในโอกาส *100 ปีชาตกาล อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร* หากเภสัชมหิดลทุกรุ่นต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะสืบสานต่อปณิธานของ อ.ดิษฐ์ผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ในการพัฒนาการศึกษาและวิชาชีพเภสัช กรรม สร้างโอกาสในการเข้าถึงการใช้ยาอย่างเต็มประสิทธิภาพ และสร้างเสริมสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน น้าหลามั่นใจว่า นี่จะเป็นของขวัญวันเกิดล้ำค่าสำหรับ *อ.ดิษฐ์..พ่อครู* ของพวกเราชาวเภสัชมหิดลจ้ะ

บทความอื่นๆ จากศิษย์เก่า

ทุกคนในภาพนี้ยิ้มอย่างมีความสุข-สนุกสนาน เมื่อมองภาพนี้แล้วทำให้ต้องยิ้มตาม ความประทับใจของภาพนี้ คือ อาจารย์ประดิษฐ์ ที่เราไม่ค่อยได้เห็นอิริยาบถแบบนี้ในคณะฯ ทำให้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในคืนนั้น ก...

ศิษย์เก่า รุ่นที่ 2

อาจารย์ประดิษฐ์มีลักษณะเป็นผู้นำสูง สมกับการเป็นคณบดี ท่าทางสง่าน่าเกรงขาม จนอาจจะทาให้คิดไปว่าอาจารย์เป็นคนดุ ซึ่งทราบจากผู้ที่ได้ทำงานกับอาจารย์ ได้ทราบว่าอาจารย์เป็นคนใจดี มีเมตตาสูง ตรงไปตรงมา&nbs...

วิทยา กุลสมบูรณ์ รุ่นที่ 7

อา                    รอนวอนเทวษไหว้           &nb...

เภสัชกร อนุทัศน์ หงส์ประภัศร รุ่นที่ 12

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา