โดย ศิษย์เก่า - ศิษย์เก่าเภสัชมหิดลรุ่นที่ 2
1512 Views |
ทุกคนในภาพนี้ยิ้มอย่างมีความสุข-สนุกสนาน เมื่อมองภาพนี้แล้วทำให้ต้องยิ้มตาม ความประทับใจของภาพนี้ คือ อาจารย์ประดิษฐ์ ที่เราไม่ค่อยได้เห็นอิริยาบถแบบนี้ในคณะฯ ทำให้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในคืนนั้น
ก่อนถึงเหตุการณ์นั้น ขอเล่าสั้นๆถึงที่มาของคณะเภส้ชศาสตร์มหิดล ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ คณะเภสัชศาสตร์พญาไท (คณะเภสัชศาสตร์ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม หรือ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกโดยรับจากการสอบเอนทรานซ์รวมกับคณะเภสัชศาสตร์ ที่สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนเตรียมเภสัชศาสตร์ (Pre-Pharmacy) ๒ ปีด้วยกันแล้วแยกไปเรียนที่จุฬาฯหรือที่มหิดลตามความสมัครใจ ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ เริ่มเป็นปีแรกที่แยกรับตั้งแต่สมัครสอบเอนทรานซ์ คือเภสัชมหิดล รุ่น ๒ เนื่องจากก่อตั้งคณะฯใหม่ จึงเริ่มรับนักศึกษาจำนวนไม่มาก รุ่น ๑ และ รุ่น ๒ มีรุ่นละประมาณ ๕๐ คน คณาจารย์ที่ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ใหญ่ที่โอนย้ายจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์รุ่นใหม่ ได้ให้ความใกล้ชิดกับพวกเรามากๆๆ มีหลายกิจกรรมที่ร่วมกันทำ กิจกรรมหนึ่งที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คือ การไปศึกษาที่สวนสมุนไพร และต้องเก็บสมุนไพรทำ herbarium ส่งด้วย ซึ่งเป็นที่มาของภาพนี้
ในระหว่างปิดเทอมปี ๓ ทางคณะฯ จัดทัศนศึกษาไปเก็บ herbarium ที่บ่อฝ้าย จังหวัดเพชรบุรี กิจกรรมนี้สนุกมากจากการบรรยายนำโดย อาจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ พวกเรารุ่น ๒ ได้รับมอบหมายให้จัดการแสดงสำหรับกิจกรรมนันทนาการในช่วงกลางคืนเพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาได้มาล้อมวงสังสรรค์กัน โดยไม่ได้รู้ล่วงหน้าก่อนเดินทางมา จำไม่ได้ว่าได้พล๊อตเรื่องมายังไง สรุปเป็นเรื่องของวนิพกตาบอดที่ออกมาขอทาน ที่เห็นผมหงอกขาว (จากการโรยแป้ง) ถือขันคือสุชาดา จงรุจิภิญโญ ร้องเพลงขอเงิน โดยมีสหายตาบอดเป่าหีบเพลงที่เห็นศีรษะด้านหลังผมขาวๆคือ จันทรา คัจฉวารี เนื้อเพลงที่ร้องจากเพลง “เด็กข้างถนน”
“หนูเกิดมาอาภัพเหลือทน
ครอบครัวก็แสนยากจน
ซ้ำพ่อเป็นคนพิกลพิการ
ตาบอดไม่เห็น หนูจึงเป็นเหมือนเด็กขอทาน
เช้าขึ้นก็ซมซาน ออกจากบ้านขอทานเรื่อยไป....”
วณิพกทั้ง ๒ เดินร้องเพลงไปขอเงินจากคณาจารย์ ในภาพนี้ที่ต้องไฮไลท์คือไปขอเงินจากอาจารย์ประดิษฐ์ ในรูปเห็นอาจารย์ฉวี บุนนาค (ด้านขวา) และอาจารย์เฉลา ลิมปินันท์ (ด้านซ้าย) ของอาจารย์ประดิษฐ์ พวกเรารุ่น ๒ นั่งพื้นใกล้นักแสดง ที่นั่งเก้าอี้เป็นพี่รุ่น ๑ ยกเว้นที่นั่งแถวหน้าขวาสุดเห็นไม่เต็มคือ อาจารย์สุคนธ์ พูนพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายนักศึกษาในขณะนั้น จากภาพนี้คงไม่ต้องบรรยายบรรยากาศในคืนนั้นที่มีแต่เสียงหัวเราะสนุกสนาน ทั้งคนแสดงและคนดูเป็นธรรมชาติ รู้สึกใกล้ชิดอบอุ่น ประทับใจรอยยิ้มของอาจารย์ประดิษฐ์และคณาจารย์ที่เปี่ยมด้วยความรักใคร่เอ็นดูที่มีให้ศิษย์ อ้อ!วันนั้น พวกเราได้ความอนุเคราะห์จากคณาจารย์ รวม ๑,๒๐๐ บาท เก็บไว้เป็นเงินรุ่น
นอกจากนี้ ยังจำได้ว่า อาจารย์ประดิษฐ์ ได้ไปร่วมงาน กีฬา ๓ สถาบัน จุฬา-มหิดล-เชียงใหม่ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพด้วย พวกเราได้ไปเที่ยวดอยสุเทพ อาจารย์ประดิษฐ์นอกจากเก็บภาพจากกล้องถ่ายรูปแล้วอาจารย์ยังใช้กล้องถ่ายหนัง ๘ มม. และเอามาฉายให้พวกเราดูที่คณะฯ ยังมีงาน (จำไม่ได้ว่างานอะไร) ที่คณะฯ อาจารย์ประดิษฐ์ได้พาลูกชายมาร่วมงานด้วย
เมื่อคิดทบทวนย้อนกลับไปในช่วงเรียนที่คณะฯ แม้ว่าสถานที่เป็นตึกเก่าๆที่ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนและสร้างเป็นอาคารใหม่ไปแล้ว แต่พวกเรายังจำความรู้สึกประทับใจ ความใกล้ชิดผูกพันกับคณาจารย์และพี่รุ่น ๑ มาตลอด อาจารย์ประดิษฐ์แม้อยู่ในตำแหน่งคณบดี อาจารย์ให้เวลาและดูแลพวกเราอย่างสม่ำเสมอ ให้ความอบอุ่นเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้
ความรู้สึกอบอุ่นและผูกพันกับคณะฯ จะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป
From here we can go everywhereวรรคทอง ของ อ.ประดิษฐ์ หุตางกูร ท่านกล่าวประโยคนี้เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในการต้อนรับเภสัชมหิดลรุ่น 4 ที่ข้ามฟากมาจากตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ ที่อยู่บนถนนพระรามหก มาเรี...
อาจารย์ประดิษฐ์ ท่านเป็นคณบดีที่ให้มีนโยบายการสอบซ่อมเป็นครั้งแรก เพื่อไม่ให้ต้องเรียนซ้ำชั้นปี ตอนนั้นผมเพิ่งข้ามไปเรียนคณะเภสัช ตอนปี 3 และผมเป็น นศ.รุ่นแรกที่ได้เข้าสอบซ่อม ซึ่งท่านสร้างคุณูปก...
ท่องหนังสือ หลังห้อง อาจารย์ดิษฐ์ ให้หงุดหงิด ใกล้วันสอบ เพียงสองสามไม่ทันแน่ ได้แค่เช้า ชามเย็นชาม สุดจะปราม ตะโกนร้อง ก้องกำแพงคอยดูนะ ถ้ากูสอบ ผ่านพ้นไป กูจะไม...
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome