หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หากจะใช้สมุนไพรกานพลูกับผักคราดหัวแหวน มีข้อควรระวัง/ข้อห้ามใช้อย่างไรบ้าง

ถามโดย woodie เผยแพร่ตั้งแต่ 16/08/2008-13:11:27 -- 7,023 views
 

คำตอบ

กานพลู ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr. & Perry ชื่อพ้อง Eugenia caryophyllata Thunb. , Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & Harrison, Eugenia aromatica Kuntze ชื่อวงศ์ Myrtaceae ชื่ออังกฤษ Clove, Clove tree ชื่อท้องถิ่น - หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ 1. ฤทธิ์ลดการอักเสบ สารสกัดด้วยน้ำจากดอก ความเข้มข้น 2.5% และ 5% (1) สารสกัดด้วยเฮกเซนจากผล ความเข้มข้น 50 มคก./มล. (2) สารสกัดด้วยเมทานอลจากเปลือกต้น (3) สารสกัดด้วยเมทานอลจาก cortex ความเข้มข้น 10 มคก./มล. (4) และน้ำมันกานพลู (5, 6) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ (1-6) โดยไปยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandin (3, 4, 7-11,), cyclooxygenase 1 (2), cyclooxygenase 2 (2-4) และ inducible nitric oxide synthase (3) สารออกฤทธิ์คือ 3,4-dihydroxyphenethyl alcohol และ 3,4-dihydroxybenzoic acid จากใบกานพลู (12) และสารยูจีนอล (eugenol) (7-11) 2. ฤทธิ์ต้านการแพ้ สารสกัดด้วยน้ำจากดอกมีฤทธิ์แก้แพ้แบบ systemic anaphylaxis ในหนูขาวที่ถูกกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ด้วย compound 48/80 ความเข้มข้นของสารสกัดที่แก้แพ้ในหนูได้ 50% (IC50) เท่ากับ 31.25 มก./มล. เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง และแก้แพ้แบบ passive cutaneous anaphylaxis ในหนูขาวที่ถูกกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ด้วย immunoglobulin E (IgE) IC50 เท่ากับ 17.78 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าทางเส้นเลือด และเท่ากับ 19.81 มก./กก. เมื่อป้อนให้หนูกิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดยไปยับยั้งการหลั่งฮีสตามีน (13) 3. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุอาการแน่นจุกเสียด สารสกัดด้วยเอทานอล (14) สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากดอก (15-17) สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากดอกที่กลั่นเอาน้ำมันหอมระเหยออกแล้ว (15) สารสกัดด้วยเมทานอลจากดอก (18) สารสกัดด้วยน้ำจากดอก (1, 18) สารสกัดด้วยเอทานอล:น้ำ (3:1) (19) น้ำมันกานพลู (15, 17, 20-29) มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุอาการแน่นจุกเสียด ได้แก่ Escherichia coli (1, 15, 17, 19-21, 23, 25-29), Salmonella typhi (19), S. typhosa (15, 21, 29), S. enteritidis (25), S. paratyphi (17), Shigella (18, 19), Sh. Paradysenteriae (29), Sh. Dysenteriae (17), Sh. flexneri (15), Bacillus anthracis (24), B. subtilis (17), B. mesentericus (25), B. cereus (1, 15, 25), Proteus vulgaris (25, 29), Rabbit Cholera (22), Vibrio comma (22, 29), V. cholerae (18, 19), V. parahemolyticus (19), Helicobacter pyroli (30) และ Clostridium botulinum (14) สารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุอาการแน่นจุกเสียด คือ eugenol (14, 28, 31) และ thymol (28) แต่สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากดอก ความเข้มข้น 20 ก./100 มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. typhimurium และ P. vulgaris ต่ำ และสารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยเฮกเซนจากดอก ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อทั้งสองชนิด (16) 4. ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ กานพลูมีสาร eugenol มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ (32, 33) มีการใช้น้ำมันกานพลูเป็นส่วนผสมในตำรับยาเพื่อลดอาการปวด (6, 34) และน้ำมันกานพลูมีสาร eugenol ออกฤทธิ์เป็นยาสลบในปลาหลายชนิด (35-54) 5. ฤทธิ์ขับลม กานพลูช่วยขับลม เนื่องจากฤทธิ์ของ eugenol (55) 6. ฤทธิ์ขับน้ำดี สารสกัดกานพลูด้วยอะซีโตน มีฤทธิ์ช่วยขับน้ำดีจึงช่วยย่อย สารออกฤทธิ์ คือ eugenol (56) 7. ฤทธิ์ป้องกันเยื่อบุกระเพาะ น้ำมันกานพลู (57) และสาร eugenol ในกานพลู (57, 58) กระตุ้นให้มีการหลั่ง mucin มาป้องกันเยื่อบุกระเพาะ (57, 58) 8. ฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ น้ำมันกานพลูจะช่วยเพิ่มความเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กกระต่าย (59) 9. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ กานพลู มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยลดอาการปวดเกร็ง (60-64) และพบว่าสารสำคัญในการออกฤทธิ์คือ eugenol (55) 10. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ 10.1 การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์ 50% จากดอก ขนาด 10 ก./กก. ให้หนูถีบจักร ไม่พบพิษใดๆ และขนาดของสารสกัดที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50% (LD50) โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร เท่ากับ 6.184 ก./กก. (65) ค่า LD50 ของสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) เมื่อป้อนให้หนูถีบจักรและหนูขาว อยู่ระหว่าง 3.2-3.6 และ 4.8-4.9 ก./กก. ตามลำดับ (66) ความเข้มข้นของน้ำมันกานพลูที่ทำให้ลูกหอยตาย 50% (LC50) เมื่อทดสอบในระบบชีววิเคราะห์แบบน้ำนิ่งเป็นเวลา 24 ชม. เท่ากับ 13.76 ppm (67) LC50ของน้ำมันกานพลูเมื่อทดสอบในปลา Penaeus semisulcatus หลังจาก 1 ชม. และ 24 ชม. เท่ากับ 130 และ 30 มก./ล. ตามลำดับ (46) และ LC50 ของน้ำมันกานพลูต่อปลา rainbow trout ภายใน 10 นาที เท่ากับ 81.1 มล./ล. LC0.1 และ LC99.9 (ความเข้มข้นของน้ำมันกานพลูที่ทำให้ปลาตาย 0.1% และ 99.9% ตามลำดับ) ภายใน 10 นาที เท่ากับ 63.9 และ 100.1 มล./ล. ตามลำดับ และ LC50, LC0.1 และ LC99.9 ภายใน 96 ชม. เท่ากับ 14.1, 12.5 และ 16.2 มก./ล. ตามลำดับ (52) มีผู้ศึกษาพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งของ eugenol ในหนูขาว หนูตะเภา และหนูถีบจักร = 2.68, 2.13 และ 3 ก./กก. ตามลำดับ ส่วนขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งในหนูขาว = 1.8 ซี.ซี. หรือ 1.93 ก./กก. เมื่อป้อนให้หนูขาว อาการเป็นพิษที่พบ คือ มีอาการเป็นอัมพาต โดยเริ่มที่ขาหลัง และกรามล่าง ส่วนอาการเป็นอัมพาตที่ขาหน้าจะเป็นเมื่ออาการโคม่า หรือเหนื่อยมากๆ อาจมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว มีอาการน้ำคั่ง (68) ถ้าให้หนูขาวกิน eugenol 0.1% ขนาด 24 ซี.ซี .และ 1% ขนาด 6 ซี.ซี. พบว่ามีการทำลายตับอ่อน ขาดไขมันในช่องท้อง ต่อมไธมัสมีขนาดเล็กลง ม้ามโต และต่อมในกระเพาะอาหารฝ่อ (69) ส่วนพิษในสุนัข พบว่าเมื่อกรอก eugenol เข้ากระเพาะ อุณหภูมิร่างกายลด ชีพจรเต้นแรง แต่อัตราการหายใจไม่เปลี่ยน อาจมีการอาเจียนเมื่อให้ขนาด 2.5 ก./10 กก. ขนาดสูงสุดที่ให้คือ 5 ก./10 กก. จะพบอาการพิษดังกล่าวถึง 65% อาจพบการเคลื่อนไหวของขาหลังผิดปกติ และพบว่าเมื่อให้ขนาดสูงสุด อาจทำให้สุนัขตายได้ 2 ใน 6 ขนาดที่ปลอดภัย คือ 0.2 ก./กก. แม้จะให้ถึง 10 ครั้ง ในช่วง 3 สัปดาห์ ก็ไม่พบอันตราย (70) การฉีด eugenol เข้าระบบไหลเวียนโลหิตโดยตรง ทำให้ความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจลดลงชั่วขณะ โดยไม่ทำให้อัตราการเต้นเปลี่ยนแปลง การฉีด eugenol เข้าหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากกว่าปกติ (71) Eugenol ทำให้โปรตีนในเซลล์ของเนื้อเยื่ออ่อนในปากถูกทำลาย การจับตัวของเซลล์ลดลง บวม และเกิดเป็นไต ชั้นใต้ผิวหนังชั้นนอกบวม กล้ามเนื้ออ่อนแอ (72) ความเข้มข้นของสาร eugenol ที่ทำให้ปลา Danio rerio (Hamilton) ตาย 50% เท่ากับ 21 ppm (48) เมื่อฉีดสาร oleanolic acid จากกานพลู ขนาด 60 มก./กก. เข้าช่องท้องหนูขาว ไม่พบพิษ แต่จะมีอาการท้องเสียเล็กน้อยในวันที่ 4 และ 5 (73) และเมื่อฉีดโพลีแซคคาไรด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงและมีน้ำหนักโมเลกุลต่ำที่สกัดแยกจากดอกกานพลูเข้าเส้นเลือดบริเวณหางหนูถีบจักร พบว่า โพลีแซคคาไรด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง ขนาด 100 มก./กก. ไม่ทำให้หนูตาย แต่ในขนาดสูงกว่า 100 มก./กก. จะพบหนูตายเพิ่มขึ้นตามขนาดของสารที่เพิ่มขึ้น ในขนาด 500 มก./กก. พบหนูตาย 90% ภายใน 1 ชม. ค่า LD50 เท่ากับ 1,322 มก./กก. ซึ่งต่ำกว่า heparin (LD50 เท่ากับ 750 มก./กก.) ประมาณ 2 เท่า ส่วนโพลีแซคคาไรด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ ไม่พบพิษ แม้ว่าจะให้ในขนาดมากกว่า 1,000 มก./กก. (74) กระต่ายที่กินกานพลูบดแห้ง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ครั้งละ 60 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกันนาน 5 สัปดาห์ ไม่พบพิษต่อตับ ไต และระบบเม็ดเลือด (75) 10.2 ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดด้วยน้ำของกานพลู และส่วนผสมของกานพลูกับคาเฟอีน ไม่ทำให้แมลงหวี่ตัวผู้ Drosophila melanogaster ก่อกลายพันธุ์ (76) สารสกัดด้วยอัลกอออล์จากกานพลู (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบใน Salmonella typhimurium TA98, TA100 และ TM677 และ Bacillus subtilis H17 และ M45 (66) แต่สารสกัดด้วยเอทานอล 95% จากดอก ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ใน S. typhimurium TA98 และ TA102 (77) และเมื่อทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากกานพลู (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ใน S. typhimurium TA98 สายพันธุ์ 510 และ 4 พบว่าสารสกัดเป็นพิษต่อเชื้อดังกล่าว (78) 10.3 ฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อน น้ำมันจากใบขนาด 40 มก./กก. เมื่อป้อนให้หนูขาวเพศเมียตั้งแต่วันที่ 1 – วันที่ 10 ของการตั้งท้อง พบว่ามีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อน 20% (79) การใช้กานพลูรักษาอาการปวดฟัน 1. กลั่นเอาน้ำมันใส่ฟัน หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการปวดฟัน (80) 2. กานพลูตำพอแหลก ผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะ ใช้สำลีจิ้มอุดฟันที่ปวดและใช้แก้โรครำมะนาด (81, 82) 3. เอาดอกกานพลูแช่เหล้าหยอดฟัน (83, 84) การใช้กานพลูรักษาอาการแน่นจุกเสียด ใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก (0.12-0.6 กรัม) ต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน (85) http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp ผักคราดหัวแหวน ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ ชื่อพ้อง Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen Compositae (Asteraceae) Spilanthes acmella (L.) Murray ชื่ออังกฤษ Para cress ชื่อท้องถิ่น ผักคราด ผักเผ็ด อึ้งฮวยเกี้ย หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ 1. ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ เมื่อฉีดน้ำคั้น สารสกัดน้ำ ความเข้มข้น 25% สารสกัดอัลกอฮอล์ 95% ความเข้มข้น 10% จากลำต้นพร้อมใบและดอก เข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภา เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% ตามจุดที่กำหนดไว้ 4 จุด ปริมาณชนิดละ 0.1 มล. ทดสอบความรู้สึกชาด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น บันทึกการหดตัวของกล้ามเนื้อหลังหนู พบว่าน้ำคั้น สารสกัดน้ำ และสารสกัดอัลกอฮอล์ ทำให้หนูมีอาการชาทันที เช่นเดียวกับ lidocaine แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์น้อยกว่า สารสกัดอัลกอออล์ออกฤทธิ์ดีกว่าน้ำคั้นและสารสกัดน้ำ สารออกฤทธิ์น่าจะเป็นอัลคาลอยด์ และจากการนำสารสกัดอัลกอฮอล์จากส่วนเหนือดิน ความเข้มข้น 10% มาทดสอบกับเส้นประสาท siatic nerve ของกบ เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% พบว่าสารสกัดอัลกอฮอล์ออกฤทธิ์ชาได้เร็วกว่า lidocaine และเส้นประสาทที่ถูกทำให้ชาไปแล้วสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แสดงว่าสารสกัดไม่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท เมื่อศึกษาดูผลของสารสกัดต่อเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกฉีดด้วยสารสกัดอัลกอฮอล์ ความเข้มข้น 10% ขนาด 0.1 มล. พบว่าภายใน 24 ชม. สภาพผิวหนังภายนอกไม่พบความผิดปกติ แต่เมื่อดูทางเนื้อเยื่อวิทยา ชั้นใต้ผิวหนังมีการบวมระหว่างเซลล์เล็กน้อย และมีการคั่งของหลอดเลือดฝอย ผิวหนังชั้น dermis มีลักษณะบวม แสดงให้เห็นว่าอักเสบ แต่ไม่พบเนื้อเยื่อตาย เมื่อผ่านไป 7 วัน ตรวจไม่พบความผิดปกติหลงเหลืออยู่ ส่วนผิวหนังบริเวณที่ฉีด lidocaine 2% ขนาด 0.1 มล. มีการบวมระหว่างเซลล์ และการคั่งในหลอดเลือดฝอยเช่นเดียวกับสารสกัด 7 วันหลังการฉีดยาตรวจไม่พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อเช่นกัน (1) 2. การศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่ ทดลองในอาสาสมัคร 11 คน โดยการวางสารสกัดเอทานอลจากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% เปรียบเทียบกับ lidocaine 10% บนปลายลิ้น นาน 10 วินาที แล้วทดสอบอาการชาโดยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น พบว่ามีความแตกต่างของเวลาเริ่มต้นออกฤทธิ์ และระยะเวลาการออกฤทธิ์ระหว่างสารสกัดและยาชา สารสกัดจะออกฤทธิ์เร็วกว่า lidocaine (11.0 ± 4.3 และ 24.7 ± 9.6 วินาที ตามลำดับ) แต่สารสกัดมีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า lidocaine (7.0 ± 2.9 และ 9.1 ± 3.0 วินาที ตามลำดับ) (2) และมีการทดสอบในอาสาสมัคร 20 คน โดยวางสารสกัดเอทานอล 95% จากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% หรือ lidocaine 10% ที่เนื้อเยื่อบุผิวในกระพุ้งแก้ม บริเวณ upper canine นาน 5, 15 และ 30 วินาที แล้วทดสอบอาการชาโดยใช้เข็ม (gauge needle) เบอร์ 27 สอดเข้าไปในบริเวณที่ทดสอบ วัดระดับความเจ็บปวดจากการสอบถาม พบว่าทั้งสารสกัดและยาชาลดความเจ็บปวดได้ และไม่พบความแตกต่างระหว่างสารสกัดและยาชา มีเนื้อเยื่อตายในอาสาสมัครที่ได้รับสารสกัดนาน 15 และ 30 วินาที ในวันรุ่งขึ้น คาดว่าน่าจะเกิดจากภาวะขาดน้ำของเซลล์และการระคายเคืองจากเอทานอล แผลจะหายภายใน 2 วันต่อมา (3) แต่การศึกษาในผู้ป่วยหญิง 200 คน วางสำลีรองเฝือกลงบนตำแหน่งที่จะแทงเข็มให้น้ำเกลือที่หลังมือหรือแขนทั้ง 2 ข้าง แต่ตำแหน่งต้องตรงกันทั้ง 2 ข้างในคนเดียวกัน หยดอัลกอฮอล์ 70% ปริมาณ 0.5 มล. หรือหยดสารสกัดจากผักคราดหัวแหวนปริมาณ 0.5 มล. ลงบนสำลีรองเฝือกคนละข้าง ปิดทับด้วยเทบใสกันการระเหย กลุ่มที่ 1 ทิ้งไว้นาน 15 นาที กลุ่มที่ 2 ทิ้งไว้นาน 30 นาที แล้วจึงใช้เข็มเบอร์ 18 แทงตรงตำแหน่งที่ทายาไว้ข้างละเข็ม ประเมินผลความเจ็บปวดด้วยการสอบถาม พบว่าในกลุ่ม 15 นาที สารสกัดมีมัธยฐานของฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดอยู่ที่ระดับปานกลาง และอัลกอฮอล์อยู่ที่ระดับเจ็บนิดหน่อย ในกลุ่มที่ทาไว้ 30 นาที มัธยฐานของทั้งสารสกัดและอัลกอฮอล์อยู่ที่ระดับเจ็บปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบในคนเดียวกันกลุ่มที่ทานาน 15 นาที สารสกัดจะระงับความเจ็บปวดได้ดีกว่าอัลกอฮอล์ร้อยละ 70 จำนวน 29 ราย แย่กว่า 43 ราย และเท่ากัน 28 ราย และไม่พบความแตกต่างของสารสกัดและอัลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่าสารสกัดไม่มีความสามารถระงับความเจ็บปวดจากการแทงเข็มให้น้ำเกลือแตกต่างจากอัลกอฮอล์ 70% เลย แม้ว่าจะทิ้งไว้นานถึง 30 นาที ทั้งนี้คาดว่าสารสกัดไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ซึ่งแตกต่างกับเนื้อเยื่อบุผิวที่ซึมผ่านได้ง่าย (4) 3. ฤทธิ์ระงับปวด การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน พบว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด เมื่อศึกษาด้วยวิธี Haffner’s tail clip วิธีกระตุ้นให้เกิดการบิดของลำตัวด้วย acetylcholine และทำให้เกิดความเจ็บปวดด้วย bradykinin ในหนูถีบจักรและหนูขาว พบว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์ระงับความเจ็บปวดต่ำ ส่วนสกัดด้วยอัลกอฮอล์ 70% ระงับความเจ็บปวดด้วยความแรงที่ต่ำกว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์ ส่วนที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ไม่แสดงฤทธิ์ลดความเจ็บปวดในทุกการทดลอง (5) และสารสกัดเอทานอลจากผักคราดหัวแหวนออกฤทธิ์ระงับปวดเล็กน้อย เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาระงับปวดที่ออกฤทธิ์ระบบประสาทส่วนปลาย และไม่มีฤทธิ์ระงับปวด เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาออกฤทธิ์ระงับปวดต่อระบบประสาทส่วนกลาง (6) 4. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดส่วนสกัดอีเทอร์ ส่วนสกัด 70% อัลกอฮอล์ และส่วนสกัดที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ จากผักคราดหัวแหวนเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ความเข้มข้นของส่วนสกัดที่ทำให้หนูตาย 50% เท่ากับ 153 มก./กก. , 2.13 ก./กก. และ 3.5 ก./กก. ตามลำดับ ส่วนสกัดอีเทอร์มีความเป็นพิษเฉียบพลันมากที่สุด (5) การใช้ผักคราดหัวแหวน ใช้ดอกตำกับเกลืออมหรือกัดไว้บริเวณที่ปวดฟัน (8)

Reference:
1.http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/spilant.html
2.http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp

Keywords:
-





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้