หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กรณีผู้ป่วยมีไอ น้ำมูก เจ็บคอ จะใช้วิธีการไหนเพื่อตัดสินใจว่าผู้ป่วยควรได้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียคะ แล้วน้ำมูกสีเขียวเป็นสิ่งที่ยืนยันได้แน่นอนว่าอาการมาจากติดเชื้อแบคทีเรียไหมคะ เพราะถ้ามีอาการข้างต้นจะได้รับยาฆ่าเชื้อกับยาตามอาการร่วมด้วย ทำให้มีการเข้าใจผิดว่าได้รับยาฆ่าเชื้อแล้วดีขึ้นค่ะ

ถามโดย กซ เผยแพร่ตั้งแต่ 28/11/2024-20:13:44 -- 484 views
 

คำตอบ

อาการแสดงของโรคติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนได้แก่ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ร่วมกับการมีไข้ มักเกิดจากการติดไวรัสหรือแบคทีเรีย กรณีติดไวรัสจะพิจารณาให้ยารักษาตามอาการ ส่วนกรณีติดแบคทีเรียจะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ทั้งนี้วิธีการแยกระหว่างไวรัสและแบคทีเรียขึ้นอยู่กับลักษณะโรคและอาการแสดงของผู้ป่วย เช่น โรคไซนัสอักเสบมีอาการแสดง คือ มีน้ำมูกสีเขียวตลอดทั้งวัน ร่วมกับมีเจ็บคัดตึงบริเวณใบหน้า ทั้งนี้ถ้าเกิดจากแบคทีเรียต้องมีอาการเข้าได้กับเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ข้อต่อไปนี้ 1) ระยะเวลาในการเป็นโรคเกิน 10 วัน 2) มีไข้มากกว่าหรือเท่ากับ 39 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 3-4 วัน 3) เกิดการติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่สองหลังจากครั้งแรกหายแล้ว หากไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะเกิดจากไวรัส ส่วนโรคคอหอยอักเสบใช้เกณฑ์ Modified centor score ในการแยกระหว่างการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย โดยเกณฑ์มีดังนี้ 1) อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส (+1 คะแนน) 2) ไม่แสดงอาการไอ (+1 คะแนน) 3) ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอด้านหน้าโต (+1 คะแนน) 4) ต่อมทอมซิลโตหรือบวมแดง (+1 คะแนน) 5) อายุต่ำกว่า 15 ปี (+1 คะแนน) อายุมากกว่า 45 ปี (-1 คะแนน) หากรวมคะแนนแล้วมีคะแนนมากกว่า 3 คะแนนขึ้นไปจะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเนื่องจากเกิดการแบคทีเรีย ดังนั้นน้ำมูกสีเขียวจึงเป็นอาการแสดงที่ไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้องใช้เกณฑ์อื่น ๆ ร่วมพิจารณาด้วย

Reference:
1. Yoon YK, Park CS, Kim JW, Hwang K, Lee SY, Kim TH, et al. Guidelines for the antibiotic use in adults with acute upper respiratory tract infections. Infection & chemotherapy. 2017;49(4):326-52.

2. พิสนธิ์ จงตระกูล, อนุชา อภิสารธนรักษ์, สมชาติ สุจริตรังษี, อุษณี ลีลาปรีชาเลิศ, สุมาลี เหล่าวีระธรรม, .พิสิษฐ์ เวชกามา, และคณะ. แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา [อินเทอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 12 ธ.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก : https://www.pknhospital.com/2019/data/starRPST/drug/aenwthaangkaaraichyaaptichiiwnayaangsmehtuphl_1-32.pdf

3. Rosenfeld RM, Andes D, Bhattacharyya N, Cheung D, Eisenberg S, Ganiats TG, et al. Clinical practice guideline: adult sinusitis. Otolaryngology-head and neck surgery. 2007;137(3):S1-31.

Keywords:
ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, น้ำมูกสีเขียว, การติดเชื้อ





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้