หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ป่วยที่ใช้ยา warfarin มีอาการเจ็บคอ สามารถใช้ยาแก้อักเสบ เจ็บคอ ชนิดใดในร้านยาได้บ้างคะ

ถามโดย กุยช่ายคิดถึงน้ำตก เผยแพร่ตั้งแต่ 31/10/2024-22:22:33 -- 399 views
 

คำตอบ

เจ็บคอเป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองในลำคอเนื่องจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อลำคอ แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1) อาการเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อทั้งจากเชื้อไวรัสและจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุด 2) อาการเจ็บคอที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ [1] สำหรับอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งอาจมีอาการแสดง ได้แก่ ลิ้นไก่และทอนซิลบวมแดง มีจุดหนอง ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรบวมโต กดแล้วเจ็บ มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส และไม่ไอ อาจพิจารณาใช้ยากลุ่ม penicillins เป็นลำดับแรก หากผู้ป่วยแพ้ penicillins อาจพิจารณาเลือกยากลุ่ม cephalosporins รุ่นแรก หรือ macrolides แทนได้ [2] มีรายงานกรณีศึกษาพบว่ายาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น warfarin สามารถเพิ่มค่า International Normalized Ratio (INR) เมื่อใช้ร่วมกับ warfarin ยาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น [3] จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ หรือมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสสามารถพิจารณายารักษาตามอาการเบื้องต้นได้โดยอาจรับประทานยาพาราเซตามอล (paracetamol) หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) [4,5] สำหรับ paracetamol ควรใช้ในระยะสั้นเนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกเมื่อใช้ร่วมกับยา warfarin [6] มีกรณีศึกษาในผู้ป่วยอายุ 74 ปี เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใช้ยา warfarin ร่วมกับการรับประทานพาราเซตามอล 1,000 มิลลิกรัม/วัน วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน พบว่าค่า INR ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 2.3 เป็น 6.4 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกอย่างมาก [7] ส่วน NSAIDs เช่น ibuprofen, naproxen และ celecoxib เป็นต้น มีการศึกษาทบทวนวรรณกรรมแบบเป็นระบบพบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกอย่างมีนัยสำคัญประมาณ 1.5 เท่าเมื่อใช้ร่วมกับ warfarin [8] ทั้งนี้แม้จะมีรายงานการศึกษาของดังนั้นการใช้ยาดังที่กล่าวข้างต้นร่วมกับ warfarin แต่อาจก็สามารถใช้ร่วมกับ warfarin ได้ตามความเห็นสมควรของแพทย์และเภสัชกร โดยทั้งนี้ผู้ป่วยต้องควรเฝ้าระวังอาการเลือดออกขณะใช้ยาทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นร่วมกับ warfarin เช่น จ้ำเลือดใต้ผิวหนัง เลือดออกที่ตาขาว เลือดกําเดาไหลมาก อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ทันที [9]

Reference:
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. เจ็บคอ…จะแย่แล้ว [อินเทอร์เน็ต].2559 [เข้าถึงเมื่อ 7 พ.ย. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1059

Pellegrino R, Timitilli E, Verga MC, et al. Acute pharyngitis in children and adults: descriptive comparison of current recommendations from national and international guidelines and future perspectives. Eur J Pediatr. 2023;182(12):5259-5273. 

Vega AJ, Smith C, Matejowsky HG, Thornhill KJ, Borne GE, Mosieri CN, Shekoohi S, Cornett EM, Kaye AD. Warfarin and Antibiotics: Drug Interactions and Clinical Considerations. Life. 2023; 13(8):1661.

Voelker M, Schachtel BP, Cooper SA, Gatoulis SC. Efficacy of disintegrating aspirin in two different models for acute mild-to-moderate pain: sore throat pain and dental pain. Inflammopharmacology. 2016;24(1):43-51.

Coutinho G, Duerden M, Sessa A, Caretta‐Barradas S, Altiner A. Worldwide comparison of treatment guidelines for sore throat. Int J Clin Pract. 2021;75(5):e13879. 

Leong D, Wu PE. Warfarin and acetaminophen interaction in a 47-year-old woman. CMAJ. 2020;192(19):E506-E508. doi:10.1503/cmaj.191532

Gebauer MG, Nyfort-Hansen K, Henschke PJ, Gallus AS. Warfarin and acetaminophen interaction. Pharmacotherapy. 2003;23(1):109-112.

Villa Zapata L, Hansten PD, Panic J, et al. Risk of bleeding with exposure to warfarin and nonsteroidal anti-Inflammatory drugs: A systematic review and meta-analysis. Thromb Haemost. 2020;120(7):1066-1074.

คณะอนุกรรมการอบรมความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม. คู่มือทักะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม(มรรถนะร่วม) พ.ศ. 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: บริษัท เอช อาร พริ้นซ์ แอนด์ เทรนนิ่ง จำกัด; 2562

Keywords:
warfarin, เจ็บคอ, ยาแก้อักเสบ





ทางเดินหายใจและหูตาคอจมูก

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้