หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การคำนวนขนาดยาในเด็ก pediatric dose กรณีใดบ้างหรือ โรคใดหรือยากลุ่มใดบ้าง ที่ต้องคำนวนขนาดยาโดยใช้น้ำหนักตัวที่เป็น BMI for pediatric

ถามโดย Ake เผยแพร่ตั้งแต่ 29/03/2024-13:17:31 -- 2,550 views
 

คำตอบ

ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) เป็นค่าสากลที่ใช้ประเมินน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็นและระดับไขมันในร่างกาย โดยคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูงของแต่ละบุคคล ค่า BMI ของเด็กขึ้นอยู่กับอายุและเพศซึ่งสำหรับเด็กอายุ 2-20 ปีจะใช้เป็นค่าดัชนีมวลกายต่ออายุ (BMI-for-age) โดยในผู้ป่วยเด็กที่จัดว่ามีภาวะอ้วน (obesity) คือเด็กที่มี BMI-for-age มากกว่าหรือเท่ากับ 95 percentile เปรียบเทียบกับเด็กที่อายุและเพศเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเภสัชจลศาสตร์ของยา ทำให้อาจเกิดพิษจากยาเกินขนาดหรือได้รับขนาดยาที่ไม่เพียงพอต่อการรักษา เนื่องจากเด็กมีปริมาณน้ำในร่างกายสูงและปริมาณไขมันในร่างกายต่ำเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กที่เป็นโรค nephrotic syndrome หรือกลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งมักพบบ่อยในช่วงอายุ 1-8 ปี เกิดจากการอักเสบและการทำลายเส้นเลือดฝอยระดับหน่วยการกรองของไต (glomerulus) ทำให้มีการรั่วของโปรตีน albumin ออกมาในปัสสาวะ เกิดอาการบวมและมีน้ำในช่องท้องปริมาณมาก ดังนั้นเด็กที่มีภาวะดังกล่าวควรได้รับการคำนวนขนาดยาเป็นพิเศษเนื่องจากภาวะโรคอาจส่งผลต่อการกระจายยาได้ ในปัจจุบันการคำนวณขนาดยาในเด็กไม่ได้ใช้ค่า BMI ในการคำนวณโดยตรง แต่ใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดว่าผู้ป่วยประเภทใดที่ควรเลือกน้ำหนักที่เหมาะสมในการคำนวณ โดยพิจารณาตามคุณสมบัติของยา เช่น ยาที่มีคุณสมบัติละลายในน้ำดี (hydrophilic) ควรคิดขนาดยาตามน้ำหนักตัวในอุดมคติ (ideal body weight; IBW) ยาที่มีคุณสมบัติละลายในไขมันดี (lipophilic) ควรคิดขนาดยาตามน้ำหนักตัวที่แท้จริง (total body weight; TBW) หรือในยาบางชนิดอาจคำนวณโดยใช้น้ำหนักที่ได้จากการปรับ (adjusted body weight; AdjBW) โดยที่ AdjBW = IBW + [correction factor x (TBW – IBW)] เป็นต้น ตัวอย่างยาที่คิดขนาดยาตามน้ำหนักที่มีหลักฐานสนับสนุน เช่น ใช้ IBW ในการคิดขนาดยา abacavir, voriconazole, benzodiazepines, carbamazepine และ morphine ใช้ TBW ในการคิดขนาดยา vancomycin และใช้ AdjBW ในการคิดขนาดยา ibuprofen และ paracetamol เป็นต้น

Reference:
1. UK Medicines Information (UKMi) pharmacists with input from the Neonatal and Paediatric Pharmacists Group (NPPG) for NHS healthcare professionals. How should medicines be dosed in children who are obese? [Internet]. 2021 [cited 2024 May 15]. Available from: https://gruposdetrabajo.sefh.es/gefp/images/UKMIQA-drug-dosing-in-childhood-obesity-1_1.pdf
2. Yupaporn Preechagoon, Ratree Sangsong. Pharmaceutical Care in Pediatrics [Internet]. 2021 [cited 2024 May 15]. Available from: https://www.thaiscience.info/journals/Article/SRMJ/10463621.pdf
3. World Health Organization. Body mass inder-for-age (BMI-for-age) [Internet]. 2021 [cited 2024 May 15]. Available from: https://www.who.int/toolkits/child-growth-standards/standards/body-mass-index-for-age-bmi-for-age
4. Faculty of Medicine Siriraj Hospital. กลุ่มอาการเนโฟติกในเด็ก [Internet]. 2019 [cited 2024 May 16]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1400
5. สภาเภสัชกรรม. วารสารไทยไกษัชยนิพนธ์. การปรับขนาดยาในผู้ป่วยอ้วนเกิน [Internet]. 2006 [cited 2024 May 16]. Available from: http://www.prachanath.su.ac.th/tbps/tbps2006_1/tbps2006_1_67-80.pdf

Keywords:
pediatric dose, BMI for age, คำนวณขนาดยาในเด็ก





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้