Serum Potassium May Independently Predict Incident Type 2 Diabetes Mellitus
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2553 -- อ่านแล้ว 9,630 ครั้ง
เนื่องจากระดับโพแทสเซียมมีผลต่อการหลั่งของอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน และภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) จากการใช้ยาขับปัสสาวะมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งนำมาสู่สมมติฐานที่ว่าผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือมีการรับประทานโพแทศเซียมน้อยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้
การศึกษาจาก Atherosclerosis Risk in Communities (ARIC) ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ prospective cohort study ทำการศึกษาผลของระดับโพแทสเซียมในเลือดกับการเกิดเบาหวาน โดยเริ่มการศึกษาในปี 1986 ผู้ที่เข้าร่วมการศึกษามีจำนวน 12,209 รายและมีการติดตามผลโดยให้ผู้ป่วยมาพบเป็นเวลา 9 ปี และติดตามผลทางโทรศัพท์เป็นเวลา 17 ปี
อุบัติการณ์ของการเกิดโรคเบาหวานพบในผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 1,475 รายในช่วงการติดตามผลที่เวลา 9 ปี และระดับโพแทสเซียมในเลือดมีความสัมพันธ์แบบผกผันต่อการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเบาหวานโดยมีการเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของเบาหวานในผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียมปกติถึงค่อนข้างมาก (5.0-5.5 mEq/L) ระดับโพแทสเซียมน้อยกว่า 4.0 mEq/L, ระดับโพแทสเซียม 4.0 - 4.5 mEq/Lและ 4.5 -5.0 mEq/L คือ 1.64 (95% confidence interval [CI], 1.29 - 2.08), 1.64 (95% CI, 1.34 - 2.01) และ 1.39 (95% CI, 1.14 - 1.71) ตามลำดับ
และในช่วงของการติดตามผลทางโทรศัพท์พบว่า ผู้ป่วยที่ยังคงมีระดับโพแทสเซียมในเลือดน้อยกว่า 5.0 mEq/L จะสามารถพบการเกิดเบาหวานเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการศึกษานี้ผู้ทำการศึกษาสรุปว่าระดับโพแทสเซียมในเลือดสามารถทำนายการเกิดเบาหวานได้ และหากผู้ป่วยสามารถจัดการให้ระดับโพแทสเซียมอยู่ในระดับปกติได้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานได้ด้วยเช่นกัน
ข้อจำกัดจากการศึกษานี้คือการวัดระดับโพแทสเซียมเริ่มต้นเพียงครั้งเดียว และการใช้อุปกรณ์ในการวัดระดับอินซูลินช่วงที่อดอาหาร (fasting insulin level) ที่ไม่น่าเชื่อถือ การใช้วิธีที่แตกต่างกันในการประเมินภาวะเบาหวานในช่วงที่มีการติดตามผล เป็นต้น