การให้ oxytocin ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะปากมดลูกเปิดหยุดชะงัก
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มีนาคม ปี 2552 -- อ่านแล้ว 15,146 ครั้ง
Oxytocin เป็นยาที่ใช้อย่างกว้างขวางเพื่อทำให้มดลูกเกิดการบีบตัวในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะคลอดช้า (slow labor) ในปัจจุบันการเริ่มให้ยาดังกล่าวยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนว่าควรเริ่มให้เมื่อใด แต่การให้ oxytocin เข้าไปสามารถเร่งการคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะคลอดช้าและยังไม่เคยคลอดบุตรมาก่อนโดยที่ไม่มีผลต่อการคลอดโดยการผ่าคลอดหรือการคลอดทางช่องคลอดโดยจะให้ oxytocin เมื่อปากมดลูกหยุดเปิดเป็นเวลานาน 2 หรือ 3 ชั่วโมงซึ่งเข้าข่ายการเกิดภาวะคลอดช้า อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย หลังจากเกิดภาวะดังกล่าวการคลอดสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการให้ยาที่ 2 ชั่วโมงนี้อาจจะไม่จำเป็นและเป็นสาเหตุของการเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ คณะผู้ทำวิจัยจึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการคลอดและเวลาที่เกิดการคลอดในหญิงตั้งครรภ์จำนวน 630 รายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอาการปากมดลูกเปิดเป็นเวลา 2 หรือ 3 ชั่วโมงหากผู้ป่วยมีการเจาะถุงน้ำคร่ำ โดยสุ่มผู้ป่วยให้ได้รับ oxytocin ทันทีหรือได้รับ oxytocin ในเวลา 3 ชั่วโมงต่อมา ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ oxytocin ทันทีใช้เวลาในการคลอด 85 นาทีนับจากหลังได้รับยาและมีอัตราการผ่าคลอดร้อยละ 9 ซึ่งต่ำกว่าอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ oxytocin ช้ากว่า (ร้อยละ 11) และมีอัตราการคลอดทางช่องคลอดร้อยละ 17 และ 12 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ oxytocin ทันทีและกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ oxytocin ช้ากว่า ตามลำดับ นอกจากนี้ได้มีการเปรียบเทียบคะแนนความปวดจากการคลอด อัตราการเกิดภาวะเลือดออกหลังคลอด การให้เลือดหลังคลอด การเกิดภาวะถลอกของหูรูด คะแนนการประเมินสภาวะเด็กทารกแรกเกิดภายใน 5 นาที และจำนวนการเข้านอนในหน่วยผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤต พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่มการศึกษา