หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Lisinopril และ Valsartan มีประสิทธิภาพเหนือกว่ายาตัวอื่นในการลดความดันโลหิต

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มีนาคม ปี 2552 -- อ่านแล้ว 10,347 ครั้ง
 
การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิต ซึ่งนำทีมโดย Dr.Baris Okcun และคณะ (ประเทศตุรกี) พบว่า Lisinopril และ Valsartan (ทั้งในแบบยาเดี่ยว หรือ combination therapy โดยให้ร่วมกับ Hydrochlorothiazide) สามารถลดความดันโลหิต (pulse pressure) ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับยาตัวอื่นๆ ที่มีข้อบ่งใช้เดียวกัน

ทีมผู้วิจัยได้ติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ (newly diagnosed hypertensive patients) จำนวน 140 คน ที่ผ่านการสุ่มเลือกออกเป็น 7 กลุ่ม ให้ได้รับยาลดความดันโลหิตที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) lisinopril 10 mg 2) lisinopril 10 mg / 6.25 mg HCTZ 3) valsartan 80 mg 4) valsartan 80 mg / HCTZ 6.25 mg 5) amlodipine 5 mg 6) indapamide 1.25 mg และ 7) atenolol 50 mg เมื่อสิ้นสุดการศึกษาที่ระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยา lisinopril และ valsartan มีระดับ pulse pressure ลดลงจากเดิมโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 9.05-11.40 mmHg ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยาอื่น มีระดับ pulse pressure ลดลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 2.50-4.85 mmHg

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์แบบกลุ่มย่อยยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยา lisinopril หรือ valsartan (กลุ่มที่ 1-4) ที่เป็นเบาหวาน (n=33) หรือได้รับยาลดไขมัน statins ร่วมด้วย จะมีระดับ pulse pressure ลดลงมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน/ไม่ได้รับยา statins





หมายเหตุ pulse pressure คือ ผลต่างระหว่าง systolic BP และ diastolic BP เป็นค่าที่ใช้(ร่วมกับผลตรวจอื่นๆ) ในการพยากรณ์โรคและติดตามผลการรักษาทางคลินิก

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า pulse pressure ในระดับสูงกว่าปกติ (หรือ 40 mmHg โดยประมาณ) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการเกิดโรคหัวใจ หัวใจห้องล่างซ้ายต้องทำงานหนักขึ้น และเป็นอันตรายมากขึ้นต่อหลอดเลือดแดง การศึกษาแบบอภิวิเคราะห์ในผู้สูงอายุจำนวน 8,000 คน พบว่าเมื่อ pulse pressure เพิ่มขึ้น 10 mmHg จะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจชนิดรุนแรงและการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ~20% นอกจากนี้ pulse pressure ที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด atrial fibrillation ในผู้ป่วยเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ยาลดความดันโลหิตแต่ละตัวออกฤทธิ์แตกต่างกัน ในการเลือกใช้ยาจึงต้องระมัดระวัง เลือใช้ยาที่ควบคุมหรือลดระดับ systolic BP ได้ดี แต่ไม่ทำให้ diastolic BP ลดต่ำลงมากเกินไป (หรือรักษา pulse pressure ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงภาวะปกติ) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาลดความดันโลหิตดังที่กล่าวในข้างต้น

1. Blacher J, Staessen JA, Girerd X, Gasowski J, Thijs L, Liu L, Wang JG, Fagard RH, Safar ME. Pulse pressure not mean pressure determines cardiovascular risk in older hypertensive patients. Arch Intern Med 2000 Apr 24;160(8):1085-9. PMID 10789600

2. Pulse Pressure Important Risk Factor for the Development of New-Onset AF CME http://www.medscape.com/viewarticle/552468
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้