การลดผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารจากการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2551 -- อ่านแล้ว 7,501 ครั้ง
The American College of Gastroenterology, the American College of Cardiology, และ the American Heart Association ได้ร่วมกันออก expert consensus document เรื่องการลดผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารจากการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet) มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
1. ความเสี่ยงในการเกิดแผลในทางเดินอาหารส่วนต้นจากการใช้ยา nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ low-dose aspirin ร่วมด้วย
2. การใช้ยากลุ่ม cyclooxygenase-2 inhibitors ร่วมกับ low-dose aspirin ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดแผลในทางเดินอาหารเท่ากับการใช้ nonselective NSAIDs.
3. การใช้ low-dose aspirin ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดแผลในทางเดินอาหารส่วนต้น ถ้ามีการใช้ warfarin หรือ heparin ร่วมด้วย ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก
4. การใช้ยา clopidogrel แม้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร แต่อาจมีผลรบกวนการสมานบาดแผลที่เกิดขึ้นแล้วได้
5. ไม่แนะนำการใช้ clopidogrel แทน aspirin เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลในทางเดินอาหารในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ควรให้ยากลุ่ม proton-pump inhibitor (PPI) ร่วมกับการใช้ aspirin
6. ควรพิจารณาการให้ยากลุ่ม proton-pump inhibitor (PPI) ในผู้ที่ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดเป็นระยะเวลานานที่เคยมีประวัติเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือเคยเกิดเลือดออกจากทางเดินอาหาร รวมทั้งผู้ที่ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวร่วมกัน และผู้ที่ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulation)
7. อาจพิจารณาการให้ยากลุ่ม proton-pump inhibitor (PPI) เพิ่มในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี, ใช้ยากลุ่มเสตียรอยด์, มีอาการอาหารไม่ย่อย (dyspepsia) หรือมีภาวะกรดไหลย้อน (reflux)
8. ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเกิดแผลในทางเดินอาหารที่ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดเป็นระยะเวลานาน ควรมีการทดสอบการติดเชื้อ Helicobacter pylori และทำการรักษา