ยาในกลุ่ม Bisphosphonates ไม่มีความสัมพันธ์กันกับการเกิด Atrial Fibrillation
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤศจิกายน ปี 2551 -- อ่านแล้ว 2,855 ครั้ง
ก่อนหน้านี้ มีการแจ้งเตือนให้ระวังการใช้ยาในกลุ่ม Bisphosphonates แต่จากรายงานความคืบหน้าล่าสุดเมื่อ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังการทบทวนงานศึกษาและวิจัยต่างๆ อย่างเป็นระบบแล้ว US FDA แจ้งผลการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยาที่อยู่ในกลุ่ม Bisphosphonates ว่าไม่มีความสัมพันธ์กันกับการเกิด Atrial Fibrillation (AF) ทั้งชนิดที่เป็นอันตรายรุนแรงและไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้ การเพิ่มขนาดยาหรือระยะเวลาในการรักษาก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิด AF เพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น แพทย์ผู้ให้การรักษาจึงยังไม่ควรเปลี่ยนการรักษา ขณะที่ผู้ป่วยเองก็ควรจะทานยาเหมือนเดิมตามปกติ
Bisphosphonates เป็นยาที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก (bone mass) มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) หรือการป้องกันการหักของกระดูกในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ alendronate, ibandronate, etidronate, pamidronate, risedronate, tiludronate, zoledronic acid
US FDA เริ่มทำการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีที่ผ่านมา โดยการรวบรวมข้อมูลจากผลงานวิจัยที่ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับยา alendronate, ibandronate, risedronate หรือ zoledronic acid (ระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับยา ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนรวมทั้งสิ้น 38,045 คน ถึงจะมีข้อมูลว่าความเสี่ยงต่อการเกิด AF เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยที่ได้รับ zoledronic acid แต่โดยรวม พบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด AF น้อยมาก (absolute difference 0-0.3% เมื่อเทียบกับ placebo) ในงานวิจัยส่วนใหญ่ พบว่ามีผู้ป่วยเพียงแค่ 2 รายหรือน้อยกว่านั้นที่เกิด AF
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อสรุปนี้แตกต่างไปจากแหล่งข้อมูลหรือผลการศึกษาอื่นๆ ที่เคยปรากฏ ดังนั้น US FDA จึงยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามรายงานการเกิด AF ในผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่ม bisphosphonate และอาจจะต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาเพิ่มขึ้นด้วย