Tovorafenib ยาใหม่สำหรับรักษาเนื้องอกในสมองชนิด low grade glioma ที่กลับมาเป็นซ้ำ
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กรกฎาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,022 ครั้ง
ปัจจุบันพบเนื้องอกในสมองชนิด low grade glioma ในเด็ก (pediatric low-grade glioma/pLGG) มากขึ้นทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกามีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ 1,200-1,500 รายในแต่ละปี เนื้องอกในสมองชนิดนี้มีสาเหตุมาจากการฟิวชั่นของยีน B-rapidly accelerated fibrosarcoma (BRAF) หรือเกิดการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ชนิด v600 mutation การรักษาเนื้องอกในสมองชนิด pLGG ในปัจจุบันเป็นการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด (vincristine กับ carboplatin) ซึ่งพบจำนวนผู้ที่มีชีวิตอยู่โดยไม่มีโรค (progression-free survival/PFS) ในช่วง 10 ปี เพียงแค่ 44% ต่อมามียาที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งมากขึ้น คือ dabrafenib (type I RAF inhibitors) ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ร่วมกับ trametinib (MEK inhibitor) สำหรับรักษาเนื้องอกที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ชนิด v600 mutation แต่ยาสูตรผสมนี้ไม่สามารถรักษาเนื้องอกที่เกิดจากการฟิวชั่นของยีน BRAF ได้[1] จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนายาใหม่ที่สามารถครอบคลุมการรักษาเนื้องอกในสมองชนิด pLGG ได้ทุกสาเหตุ
เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2024 USFDA ได้อนุมัติการจำหน่ายยารักษามะเร็งที่มีชื่อว่า tovorafenib (Ojemda) เพื่อใช้รักษา pLGG[2] โดย tovorafenib เป็นยารักษามะเร็งชนิดมุ่งเป้าซึ่งจัดเป็น type II RAF inhibitors[3] ออกฤทธิ์ยับยั้งสัญญาณ RAS/RAF/MAPK ส่งผลชะลอการเจริญเติบโตและลดการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง[4] ปัจจุบัน tovorafenib มีข้อบ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยอายุ 6 เดือนขึ้นไป ที่มีเนื้องอกในสมองชนิด low grade glioma และกลับมาเป็นซ้ำ โดยพบการฟิวชั่นของยีน BRAF หรือการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ชนิด v600 mutation รูปแบบของยาที่จำหน่าย คือ แบบยาเม็ดและยาน้ำแขวนลอย ข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ tovorafenib ได้จากการทดลองทางคลินิกระดับ phase 2 ที่มีชื่อการศึกษาว่า FIREFLY-1 โดยผู้ป่วยทุกคนได้รับ tovorafenib ในขนาดตั้งแต่ 290-476 mg/m2 หรือสูงสุดที่ 600 mg สัปดาห์ละครั้ง และให้ยาจนกว่าจะพบการลุกลามของมะเร็งหรือพบการเกิดพิษของยาจนไม่สามารถใช้ยาต่อได้ พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ tovorafenib มีอัตราการรอดชีวิตโดยรวม (overall response rate/ORR) อยู่ที่ 51% และพบค่าระยะเวลาการตอบสนอง (duration of response/DoR) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.8 เดือน ส่วนผลข้างเคียงที่พบมากในการศึกษาทางคลินิก ได้แก่ ผื่น เหนื่อยล้า ติดเชื้อโรคได้ง่าย ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น และนอกจากนี้ยังพบผลทางปฏิบัติการที่ผิดปกติ ได้แก่ ค่า phosphate, hemoglobin, albumin, lymphocyte, potassium, sodium ที่ลดลง และ ค่า creatinine phosphokinase, alanine aminotransferase, aspartate aminotransferase ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น[2]
เอกสารอ้างอิง
1. van Tilburg CM, Kilburn LB, Perreault S, et al. LOGGIC/FIREFLY-2: a phase 3, randomized trial of tovorafenib vs. chemotherapy in pediatric and young adult patients with newly diagnosed low-grade glioma harboring an activating RAF alteration. BMC Cancer. 2024; 24(1):147.
2. Food and Drug Administration. FDA grants accelerated approval to tovorafenib for patients with relapsed or refractory BRAF-altered pediatric low-grade glioma [Internet].2024 [cited 2024 May 11]. Available from https://www.fda.gov/drugs/resources-information-approved-drugs/fda-grants-accelerated-approval-tovorafenib-patients-relapsed-or-refractory-braf-altered-pediatric#:~:text=On%20April%2023%2C% 202024%2C%20therearrangement%2C%20or%20BRAF%20V600%20mutation.
3. Offer K, McGuire MT, Song K, et al. Activity of Type II RAF Inhibitor Tovorafenib in a Pediatric Patient with a Recurrent Spindle Cell Sarcoma Harboring a Novel SNX8-BRAF Gene Fusion. JCO Precis Oncol. 2023; 7:e2300065.
4. Bahar, M.E., Kim, H.J. & Kim, D.R. Targeting the RAS/RAF/MAPK pathway for cancer therapy: from mechanism to clinical studies. Sig Transduct Target Ther 8, 455 (2023).
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Ojemda
Tovorafenib
low grade glioma
pLGG
BRAF
RAF inhibitors