หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การใช้ methotrexate รักษา dermatomyositis ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด interstitial lung disease

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กรกฎาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,119 ครั้ง
 
Interstitial lung disease (ILD) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของโรค dermatomyositis ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยประมาณ 23% ที่มี dermatomyositis ในอเมริกาเหนือ[1] โดยโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตึง หรือปวด มีปัญหาในการกลืน ผื่นผิวหนังสีม่วงแดง เปลือกตาบนสีม่วง หายใจถี่ กลืนลำบาก เป็นต้น ซึ่ง methotrexate (MTX) เป็นทางเลือกแรกสำหรับการรักษา อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้ MTX ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกี่ยวข้องกับการเกิด pneumonitis และ pulmonary fibrosis 0.3-11.6%[2] ทำให้แพทย์อาจลังเลที่จะใช้ MTX สำหรับรักษา dermatomyositis

จากการศึกษา cohort study ที่เผยแพร่ใน JAMA Dermatology[3] นักวิจัยได้ประเมินผู้เข้าร่วม 163 ราย ใน NIH-sponsored All of Us Research Program ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2018 ถึงกรกฎาคม 2022 ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น dermatomyositis และได้รับการรักษาด้วยยาที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน (immunomodulators) แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ MTX ทั้งหมด 58 ราย อายุมัธยฐาน 58 ปี ติดตามผลเป็นเวลา 6.6 ปี และกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ MTX ทั้งหมด 105 ราย อายุมัธยฐาน 59 ปี ติดตามผลเป็นเวลา 6.5 ปี ลักษณะทาง demographic และ clinical ของผู้ป่วยในทั้งสองกลุ่มคล้ายคลึงกัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับ MTX เกิด ILD 18 ราย คิดเป็น 17% และพบ 9 ราย ในกลุ่มที่ไม่ได้รับ MTX คิดเป็น 16% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันโดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ การคำนวณทางสถิติเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิด ILD ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ MTX ด้วย Kaplan-Meier พบ hazard ratio [HR] เท่ากับ 0.79 (95% CI, 0.35-1.78; P=0.56) ข้อมูลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ MTX ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด ILD อย่างไรก็ตามการศึกษายังมีข้อจำกัดของการสืบค้นและเวลาในการวินิจฉัยจากบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์อาจไม่ถูกต้อง หรือมีข้อมูลขาดหายไป ขนาดตัวอย่าง ผลลัพธ์ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ ลักษณะเฉพาะทางคลินิก และข้อจำกัดของการใช้ cohort study

เอกสารอ้างอิง

1. Sun KY, Fan Y, Wang YX, Zhong YJ, Wang GF. Prevalence of interstitial lung disease in polymyositis and dermatomyositis: A meta-analysis from 2000 to 2020. Semin Arthritis Rheum. 2021; 51(1):175-91.

2. Fragoulis GE, Nikiphorou E, Larsen J, Korsten P, Conway R. Methotrexate-Associated Pneumonitis and Rheumatoid Arthritis-Interstitial Lung Disease: Current Concepts for the Diagnosis and Treatment. Front Med (Lausanne). 2019; 6:238.

3. Shah JT, Richardson WM, Mittal L, Castillo R, Mazori DR, Caplan AS, Femia AN. Methotrexate Use and Risk of Interstitial Lung Disease in Dermatomyositis. JAMA Dermatology. 2024.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
methotrexate interstitial lung disease dermatomyositis
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้