Colchicine ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ตุลาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 6,874 ครั้ง
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2023 คณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้ colchicine (Lodoco) ขนาด 0.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดหัวใจ (coronary revascularization) และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerotic disease) หรือมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด[1] ทั้งนี้ปัจจุบันในประเทศไทย colchicine ที่ใช้มีขนาด 0.6 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1-3 ครั้ง เพื่อรักษาโรคเกาต์ (gout)[2] โดยกลไกการออกฤทธิ์ของ colchicine เชื่อว่าเกิดจากฤทธิ์ยับยั้ง tubulin เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของเซลล์เม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่มีการอักเสบ จนเป็นผลลดการอักเสบและลดการสร้าง plaque ในหลอดเลือดได้[3]
ข้อมูลประสิทธิผลของ colchicine ในการใช้เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มาจาก 2 การศึกษา ได้แก่ LoDoCo-2 และ COLCOT โดย LoDoCo-2[4] เป็นการทดลองแบบ randomized, controlled, double-blind trial ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จำนวน 5522 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ colchicine 0.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง จำนวน 2,762 ราย และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกจำนวน 2,760 ราย พบว่ากลุ่มที่ได้รับ colchicine มีการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง 6.8% น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่มีการเกิดโรค 9.6% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (95% CI 0.57%-0.83%; P<0.001) ส่วนการศึกษา COLCOT[5] ซึ่งเป็นการทดลองแบบ randomized, controlled, double-blind trial ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จำนวน 4,745 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ colchicine 0.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง จำนวน 2,366 ราย และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกจำนวน 2,379 ราย พบว่ากลุ่มที่ได้รับ colchicine มีการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง 5.5% น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่มีการเกิดโรค 7.1% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (95% CI 0.61%-0.96%; P=0.02) ทั้งนี้รายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ colchicine ใน 2 การศึกษา ได้แก่ อาการท้องเสีย
เอกสารอ้างอิง
1. Medscape. FDA OKs Low-Dose Colchicine for Broad CV Indication [internet]. 2023 [cited 2023 June 25]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/993433.
2. Sadiq NM, Robinson kJ, Terrell JM. Colchicine [internet]. 2023 [cited 2023 June 29]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK431102/.
3. Chew E, Varghese B, Chew P, Blumenthal RS. The Therapeutic Potential of the Ancient Drug Colchicine [internet]. 2021 [cited 2023 June 25]. Available from: https://www.acc.org/Latest-in-Cardiology/Articles/2021/04/19/11/52/The-Therapeutic-Potential-of-the-Ancient-Drug-Colchicine.
4. Nidorf SM, Fiolet ATL, Mosterd A, et al. Colchicine in Patients with Chronic Coronary Disease. N Engl J Med. 2020; 383(19):1838-1847.
5. Tardif JC, Kouz S, Waters DD, et al. Efficacy and Safety of Low-Dose Colchicine after Myocardial Infarction. N Engl J Med. 2019; 381(26):2497-2505.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
colchicine
atherosclerotic cardiovascular disease