Pioglitazone มีแนวโน้มลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวาน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน พฤษภาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 2,031 ครั้ง
ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากการเสื่อมของเนื้อสมองโดยตรง รวมทั้งจากความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองซึ่งสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน[1] เนื่องจากเบาหวานทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติและทำให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณสมองได้ลดลงจนเกิดภาวะสมองเสื่อมในที่สุด สำหรับ pioglitazone เป็นยาในกลุ่ม thiazolidinediones ที่ใช้รักษาเบาหวาน รวมทั้งมีการศึกษาว่าอาจมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ประสาท (neuroprotective effect) โดยการลดการอักเสบ ลดระดับ beta-amyloid ยับยั้งการสร้างเส้นใยโปรตีนเทา (tau hyperphosphorylation) และช่วยเพิ่มการทำงานของจุดเชื่อมต่อเส้นประสาท (synaptic plasticity) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะสมองเสื่อม[2-3]
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 วารสาร Neurology ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาของ pioglitazone กับความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมและความสัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดในสมองตีบและภาวะหัวใจขาดเลือด ที่เก็บข้อมูลในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด 91,218 ราย โดยมีผู้ใช้ pioglitazone ขนาด 90 มิลลิกรัมต่อวัน 3,467 ราย และไม่ได้ใช้ยา 87,751 ราย ระยะเวลาการเก็บข้อมูล 10 ปี พบว่ามีผู้ที่เกิดภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 8.3 ในกลุ่มที่ใช้ pioglitazone ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาพบภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 10 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเป็นร้อยละความเสี่ยงโดยรวมพบว่ากลุ่มที่ใช้ pioglitazone มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ยาร้อยละ 16 (aHR, 0.84; 95%CI, 0.75-0.95) และเมื่อแยกดูเฉพาะผู้ที่มีประวัติหัวใจขาดเลือด พบว่ากลุ่มที่ได้รับ pioglitazone มีความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาร้อยละ 54 (aHR, 0.46; 95%CI, 0.24-0.90) ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับกลุ่มที่มีประวัติเส้นเลือดในสมองตีบที่พบว่ากลุ่มที่ได้รับ pioglitazone มีความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาร้อยละ 43 (aHR. 0.57; 95%CI, 0.38-0.86)[4]
อย่างไรก็ตามการใช้ pioglitazone ระยะยาวสัมพันธ์กับการเกิดภาวะกระดูกหัก น้ำหนักตัวเพิ่ม ภาวะหัวใจล้มเหลว และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งข้อมูลของ pioglitazone ในการใช้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมที่มีนั้นยังไม่เพียงพอ การใช้ pioglitazone โดยคาดหวังผลป้องกันภาวะสมองเสื่อมจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อประเมินข้อดีและข้อเสียในการใช้ระยะยาวเพิ่มเติม[5]
เอกสารอ้างอิง
1. Umegaki H. Type 2 diabetes as a risk factor for cognitive impairment: current insights. Clin Interv Aging. 2014; 9:1011-1019.
2. Combs CK, Bates P, Karlo JC, Landreth GE. Regulation of β-amyloid stimulated proinflammatory responses by peroxisome proliferator-activated receptor α. Neurochemistry international. 2001; 39:449-457.
3. Searcy JL, Phelps JT, Pancani T, et al. Long-term pioglitazone treatment improves learning and attenuates pathological markers in a mouse model of Alzheimer’s disease. J Alzheimers Dis. 2012; 30:943-961.
4. Ha J, Choi DW, Kim, Kim KY, Nam CM, Kim E. Pioglitazone Use and Reduced Risk of Dementia in Patients with Diabetes Mellitus with a History of Ischemic Stroke [published online ahead of print, 2023 Feb 15]. Neurology. 2023; 10.1212/WNL.0000000000207069.
5. Megan Brooks. Diabetes Drug Tied to Lower Dementia Risk. 2023. [Internet]. [cited 2023 Feb 21]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/988388#vp_1.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
pioglitazone
thiazolidinediones
dementia
ischemic heart disease
stroke