หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Lebrikizumab (IL-13 inhibitor) เพิ่มประสิทธิภาพของ topical steroids ในการรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน เมษายน ปี 2566 -- อ่านแล้ว 954 ครั้ง
 
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) เกิดได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการหลั่ง interleukin (IL)-13 จาก T-helper type 2 (Th2) โดยเมื่อ IL-13 จับกับ IL-4 receptor บนผิวของ Th2 เซลล์เอง (autocrine) จะส่งผลกระตุ้นการแบ่งตัวของ Th2 และทำหน้าที่หลั่ง IL-13 เพื่อไปกระตุ้น B cells ให้กลายเป็น plasma cells ที่ทำหน้าที่สร้างและหลั่ง IgE ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อโรคภูมิแพ้รวมถึง atopic dermatitis โดย lebrikizumab เป็น monoclonal antibody ที่จับกับ IL-13 แบบจำเพาะเจาะจง จึงมีผลยับยั้งการจับกันของ IL-13 กับ IL-4 receptor ช่วยลดการกระตุ้น Th2 และลดปริมาณของ IgE ซึ่งทำให้เกิด atopic dermatitis ทั้งนี้การศึกษาประสิทธิภาพของ lebrikizumab ก่อนหน้าเป็นการศึกษาเพื่อดูประสิทธิภาพของการใช้ lebrikizumab อย่างเดียว (monotherapy) จากระยะเวลาการศึกษา 16 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับ lebrikizumab ให้ประสิทธิผลในการรักษาที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ข้อมูลจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน JAMA dermatology เมื่อปี ค.ศ. 2023 ชื่อ Efficacy and Safety of Lebrikizumab in Combination With Topical Corticosteroids in Adolescents and Adults With Moderate-to-Severe Atopic Dermatitis: A Randomized Clinical Trial (ADhere) ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ double-blinded, placebo-controlled, multicenter, phase 3 พบว่าการใช้ lebrikizumab ร่วมกับการใช้ยาทาสเตียรอยด์ (topical steroids) เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ในคนไข้อายุ 12 ปีขึ้นไปที่เป็น moderate to severe atopic dermatitis มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี การศึกษานี้ทำในผู้ป่วยทั้งหมด 211 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ lebrikizumab ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 500 mg ที่จุดเริ่มต้นและสัปดาห์ที่ 2 ตามด้วยขนาด 250 mg ทุก 2 สัปดาห์ ร่วมกับการใช้ triamcinolone acetonide 0.1% (TA) cream ทุก 2 สัปดาห์ จำนวน 145 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกร่วมกับ TA cream จำนวน 66 ราย จากระยะเวลาการศึกษา 16 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับ lebrikizumab ร่วมกับ TA cream มีผลการรักษาที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากกว่า 2% ในการศึกษา ได้แก่ conjunctivitis ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง injection site reactions และการติดเชื้อ herpes

จากข้อมูลการศึกษาเหล่านี้ ทำให้สามารถใช้ lebrikizumab ได้ทั้งแบบ monotherapy หรือใช้ร่วมกับ topical steroids ทั้งนี้ lebrikizumab กำลังอยู่ในขั้นตอนอนุมัติข้อบ่งใช้ในการรักษา atopic dermatitis จากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป

เอกสารอ้างอิง

1. David Boothe W, Tarbox JA, Tarbox MB. Atopic Dermatitis: Pathophysiology. Adv Exp Med Biol. 2017; 1027:21-37.

2. Simpson EL, Gooderham M, Wollenberg A, et al. Efficacy and Safety of Lebrikizumab in Combination With Topical Corticosteroids in Adolescents and Adults With Moderate-to-Severe Atopic Dermatitis: A Randomized Clinical Trial (ADhere). JAMA Dermatol. 2023; e225534.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
lebrikizumab atopic dermatitis topical steroids ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้