ยาใหม่ที่อาจป้องกันมาลาเรียได้นานถึง 6 เดือน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤศจิกายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 1,609 ครั้ง
CIS43LS เป็นยากลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดีชนิดใหม่ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ได้รับยาปลอดจากการติดเชื้อมาลาเรียได้นานถึง 6 เดือน โดย CIS43LS ออกฤทธิ์ยับยั้งที่ PfCSP ซึ่งเป็นโปรตีนหลักบนเซลล์เชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Plasmodium falciparum ในระยะ sporozoites ซึ่งเป็นระยะที่มีการติดต่อจากยุงสู่มนุษย์ และโปรตีนดังกล่าวยังจำเป็นในการที่ sporozoites จะเข้าสู่ตับเกิดเป็นระยะ erythrocytic ซึ่งเป็นระยะที่สามารถก่อโรค ยานี้จึงจัดเป็น passive immunization ที่ไม่ต้องรอให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างแอนตีบอดีเอง ดังนั้น CIS43LS จึงช่วยทำลายวงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรียในขณะที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และยังไม่เข้าสู่ตับ ทั้งนี้ CIS43LS ต้องบริหารยาโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำแบบหยดอย่างต่อเนื่อง (IV infusion) ในขณะที่การบริหารยาโดยฉีดแบบปกติ (shot version) ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบระยะแรกในทารก เด็ก และ ผู้ใหญ่
CIS43LS พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา และทำการวิจัยที่แอฟริกาซึ่งมีผู้ติดเชื้อโรคมาลาเรีย 241 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนถึง 620,000 คนในปี พ.ศ. 2563 โดยข้อมูลจากการทำวิจัยในสาธารณรัฐมาลีซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดจำนวน 330 คน ให้ได้รับ CIS43LS ขนาด 10 หรือ 40 mg/kg โดยเปรียบเทียบกับยาหลอก จากนั้นทดสอบการติดเชื้อมาลาเรียทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลาต่อเนื่อง 24 สัปดาห์ จากผลการวิจัยพบว่ามีผู้ติดเชื้อมาลาเรีย 20 รายในกลุ่มที่ได้รับยาขนาดสูง ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาขนาดต่ำมีผู้ติดเชื้อ 39 ราย และมีผู้ติดเชื้อ 86 ราย ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งทำให้คำนวณได้ว่ายาขนาดสูงมีประสิทธิภาพ 88% และขนาดต่ำกว่ามีประสิทธิภาพ 75% เมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก
ทั้งนี้วัคซีนป้องกันมาลาเรียในเด็กขององค์กรอนามัยโลกที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมีชื่อว่า RTS,S/AS01 (Mosquirix™) ซึ่งได้นำร่องใช้อยู่ในประเทศ Ghana, Kenya และ Malawi โดยวัคซีนชนิดนี้เป็น monovalent recombinant protein ประกอบด้วยโปรตีน PfCSP ที่เชื่อมต่อเข้ากับแอนติเจนบนพื้นผิวของไวรัส hepatitis B ซึ่งจะสามารถกระตุ้น humoral และ cellular immunity ต่อ PfCSP (เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบ active immunization) พบว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อมาลาเรียได้เพียง 36% และจำเป็นต้องให้วัคซีนถึง 4 ครั้ง ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อในคนได้มากเพียงพอ
เอกสารอ้างอิง
1. Kassoum Kayentao, Aissata Ongoiba, Anne C. Preston, Sara A. Healy, Safiatou Doumbo, Didier Doumtabe, et al. Safety and Efficacy of a Monoclonal Antibody against Malaria in Mali.NEJM. October 31, 2022; Available from: https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2206966?query=featured_home doi: 10.1056/NEJMoa2206966
2. New Malaria Antibody Drug Prevents Infection in Adults for 6 Months . [Internet].2022 [cited 2022 Nov 2]. Available from: https://www.drugs.com/news/new-malaria-antibody-prevents-infection-adults-6-months-108747.html
3. Q&A on RTS,S malaria vaccine. [Internet].2022 [cited 2022 Nov 7]. Available from: https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/q-a-on-rts-s-malaria-vaccine
4. RTS,S/AS01 malaria vaccine (Mosquirix®): a profile of its use. Drugs Ther Perspect [Internet]. 2022 [cited 2022 Nov 7]; 38:373–381.Available from: https://link.springer.com/article/10.1007/s40267-022-00937-3#Sec5
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Monoclonal Antibody
Malaria