Odevixibat...IBAT inhibitor ใช้ลดอาการคันใน progressive familial intrahepatic cholestasis
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน สิงหาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 2,618 ครั้ง
ภาวะน้ำดีคั่งในตับชนิด progressive familial intrahepatic cholestasis เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบยาก พบในเด็กได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 6 เดือน มีการระบายของน้ำดีออกจากตับได้ลดลง อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนบางชนิดโดยเฉพาะ ATP8B1, ABCB11 และ ABCB4 โรคจะรุดหน้าไปเรื่อย ๆ หากพบความผิดปกติตั้งแต่อายุยังน้อยโรคมักรุดหน้าเร็ว หากเริ่มแสดงอาการช่วงวัยรุ่นโรคจะรุดหน้าได้ช้ากว่า อย่างไรก็ตามเด็กเกือบทั้งหมดต้องเข้ารับการรักษาก่อนอายุ 30 ปี การคั่งของน้ำดีในตับทำให้เกิดการทำลายเซลล์ตับ ระดับน้ำดีในซีรัมเพิ่มขึ้น ของเสียสะสมในเลือด เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ภาวะดีซ่าน อ่อนล้า เบื่ออาหาร โรคตับแข็ง ภาวะตับวาย และการที่น้ำดีออกจากตับสู่ลำไส้น้อยลงจะลดการดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมัน เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยและการเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์
การขับน้ำดีออกจากตับจะเข้าสู่ทางเดินอาหารตรงลำไส้เล็กส่วนต้น น้ำดีมีการดูดซึมกลับที่ลำไส้เล็กส่วนปลายสุดเพื่อเข้าสู่ตับได้อีก (มี enterohepatic circulation) ซึ่ง ileal bile acid transporter (IBAT) มีบทบาทในการช่วยดูดซึมกลับของน้ำดี จึงมีการคิดค้น IBAT inhibitor เพื่อลดการดูดซึมกลับของน้ำดีและช่วยลดระดับน้ำดีในซีรัม และเมื่อเร็ว ๆนี้มียา odevixibat ซึ่งออกฤทธิ์เป็น reversible IBAT inhibitor ออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศเพื่อใช้รักษาอาการคันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปที่มีภาวะ progressive familial intrahepatic cholestasis ผลิตในรูป oral pellets ความแรง 200 และ 600 ไมโครกรัมและยาแคปซูลความแรง 400 และ 1,200 ไมโครกรัม ขนาดที่แนะนำคือ 40 ไมโครกรัม/กิโลกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้งพร้อมอาหารเช้า หากอาการคันไม่ทุเลาหลังจากใช้ยาไปแล้ว 3 เดือน สามารถเพิ่มขนาดยาได้คราวละ 40 ไมโครกรัม/กิโลกรัม จนถึงขนาดยา 120 ไมโครกรัม/กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ขนาดยาต้องไม่เกินวันละ 6 มิลลิกรัม
มีการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ odevixibat เป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled trial ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 17 ปีจำนวน 62 คนซึ่งมีภาวะ progressive familial intrahepatic cholestasis และมีอาการคัน (ผู้ที่มีความผิดปกติในยีน ABCB11 ไม่ได้เข้าร่วมในการศึกษา) แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อได้รับยาในขนาด 40 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (n=23), 120 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (n=19) และยาหลอก (n=20) โดยรับประทานวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารเช้า หากเด็กไม่สามารถกลืนยาแคปซูลได้จะแกะแคปซูลออกเพื่อโปรยยาใส่ในอาหารเหลว ศึกษานาน 24 สัปดาห์ มีผู้ป่วย 13 คนออกจากการศึกษาก่อนสิ้นสุดเวลา เนื่องจากใช้ยาไม่ได้ผล (n=11) หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (n=2) ในจำนวนนี้มี 5 คนมาจากกลุ่มยาหลอกและ 8 คนมาจากกลุ่ม odevixibat ประเมินผลโดยดูจากอาการเกาตลอดช่วง 24 สัปดาห์ คะแนนเริ่มจาก 0 (ไม่เกาเลย) จนถึง 4 (มีอาการมากที่สุด) ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษาก่อนได้รับยาหรือยาหลอกมีอาการคันในระดับคะแนนตั้งแต่ 2 (เกาปานกลาง) ขึ้นไป การประเมินผลเป็นแบบ observer-reported outcome (ObsRO) คือประเมินผลโดยผู้ดูแลเด็ก ผลการศึกษาพบว่าตลอดช่วง 24 สัปดาห์ในกลุ่มที่ได้รับยามีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการคันลดลงเหลือระดับคะแนน 0 (ไม่เกาเลย) หรือ 1 (เกาเล็กน้อย) มีมากกว่ากลุ่มยาหลอก ค่าเฉลี่ยของ % ObsRO ในกลุ่มยาหลอกเท่ากับ 13.2%, กลุ่มที่ได้รับยา 40 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เท่ากับ 35.4% และกลุ่มที่ได้รับยา 120 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เท่ากับ 30.1% ผลไม่พึงประสงค์ของ odevixibat ที่พบบ่อยที่สุด (>2%) ได้แก่ ผลทดสอบการทำงานของตับผิดปกติ ท้องเดิน ปวดท้อง อาเจียน และภาวะขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน
อ้างอิงจาก:
(1) Bylvay (odevixibat) capsules, for oral use; Bylvay (odevixibat) oral pellets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4828760, revised: 07/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/215498s000lbl.pdf; (2) Karpen SJ, Kelly D, Mack C, Stein P. Ileal bile acid transporter inhibition as an anticholestatic therapeutic target in biliary atresia and other cholestatic disorders. Hepatol Int 2020;14:677-89.