หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Finerenone (mineralocorticoid receptor antagonist)...สำหรับลดภาวะแทรกซ้อน (ต่อไตและระบบหัวใจและหลอดเลือด) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร่วมกับโรคเบาหวานแบบที่ 2

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 7,745 ครั้ง
 
โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease) เป็นภัยร้ายแรงที่ซ้อนเร้นและเป็นภาวะแทรกในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าสู่โรคไตระยะสุดท้ายซึ่งต้องล้างไตหรือปลูกถ่ายไต โรคไตเรื้อรังทำให้เกิดผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างช้า ๆ เป็นที่ทราบกันว่าการกระตุ้น mineralocorticoid receptor มากเกินทำให้เกิดการอักเสบและมี fibrosis เกิดขึ้นที่ไตและหัวใจ เมื่อเร็ว ๆนี้มียาใหม่ออกวางจำหน่าย คือ finerenone ยานี้เป็น non-steroidal, selective mineralocorticoid receptor antagonist ชนิดแรกที่นำมาใช้เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่อไตและระบบหัวใจและหลอดเลือด ในผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรังร่วมกับโรคเบาหวานแบบที่ 2 โดยยานี้ได้ใช้รับข้อบ่งใช้ในการลดความเสี่ยงต่อการเสื่อมลงของไต (เกิด sustained eGFR decline) การเกิดโรคไตระยะสุดท้าย การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดที่ไม่เสียชีวิต (non-fatal myocardial infarction) และการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรังร่วมกับโรคเบาหวานแบบที่ 2 ยานี้ผลิตในรูปยาเม็ดที่มีความแรง 10 และ 20 มิลลิกรัม ขนาดยาที่แนะนำคือเริ่มด้วย 10 มิลลิกรัมในผู้ที่มี eGFR เท่ากับ 25 ถึง <60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร หรือ 20 มิลลิกรัมในผู้ที่มี eGFR ≥60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร รับยาประทานวันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ผู้ที่จะใช้ยาต้องมีระดับโพแทสเซียมในซีรัมไม่เกิน 5 mEq/L หลังจาก 4 สัปดาห์ขนาดที่แนะนำคือ 20 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง

การศึกษาที่สนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้นเป็น randomized, double-blind, placebo-controlled, multicenter trial ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไตเรื้อรังรังร่วมกับโรคเบาหวานแบบที่ 2 ผู้ป่วยทุกรายมีระดับโพแทสเซียมในซีรัม ≤4.8 mEq/L และได้รับการรักษาตามมาตรฐาน แบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มที่ได้รับ finerenone (n=2,833) และยาหลอก (n=2,841) ขนาดยาเริ่มแรก 10 หรือ 20 มิลลิกรัม ขึ้นกับค่า eGFR (10 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ในผู้ที่มี eGFR เท่ากับ 25 ถึง <60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร หรือ 20 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ในผู้ที่มี eGFR ≥60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร) และต่อมาปรับขนาดยาเป็น 20 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ระยะเวลาในการติดตามผลการรักษามีค่ากลางที่ 2.6 ปี ประเมินผลจาก primary composite endpoint (การลดลงของ eGFR ≥40%, การเกิดภาวะไตวาย หรือการเสียชีวิตจากโรคไต) พบว่ากลุ่มที่ได้รับ finerenone มีความเสี่ยงต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (hazard ratio=0.82, 95% CI=0.73-0.93, p=0.001) โดยเฉพาะการลดลงของ eGFR ≥40% และการเกิดภาวะไตวาย ส่วนการประเมินผล secondary composite endpoint (การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดที่ไม่เสียชีวิต การเกิดภาวะ stroke ที่ไม่เสียชีวิต หรือการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว) พบว่ากลุ่มที่ได้รับ finerenone มีความเสี่ยงต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (hazard ratio=0.86, 95% CI=0.75-0.99, p=0.034) โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดที่ไม่เสียชีวิต และการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนผลไม่พึงประสงค์ที่พบ (≥1% และพบมากกว่ายาหลอก) ได้แก่ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ความดันโลหิตต่ำและภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ

อ้างอิงจาก:

(1) Kerendia (finerenone) tablets, for oral use. Revised: 07/2021. https://labeling.bayerhealthcare.com/html/products/pi/Kerendia_PI.pdf; (2) Epstein M. Aldosterone and mineralocorticoid receptor signaling as determinants of cardiovascular and renal injury: from Hans Selye to the present. Am J Nephrol 2021;52:209-16.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้