หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Aspirin...เปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างขนาดยา 81 มิลลิกรัมกับ 325 มิลลิกรัมในโรคหัวใจ (atherosclerotic cardiovascular disease)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน พฤษภาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 4,212 ครั้ง
 

ปัจจุบันความเห็นเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมของแอสไพรินที่ใช้ในผู้ป่วย atherosclerotic cardiovascular disease เพื่อลดความเสี่ยงต่อการตาย, myocardial infarction และ stroke อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับภาวะเลือดออกที่อวัยวะสำคัญมากนัก ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ บางองค์กรเจาะจงให้ใช้ในขนาดต่ำในขณะที่บางองค์กรไม่ระบุ เมื่อเร็ว ๆนี้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาชื่อ ADAPTABLE (Aspirin Dosing: A Patient-Centric Trial Assessing Benefits and Long-Term Effectiveness) ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการใช้แอสไพรินระยะยาวระหว่างขนาดยา 81 มิลลิกรัมกับ 325 มิลลิกรัมในผู้ป่วย atherosclerotic cardiovascular disease จำนวน 15,076 คน เป็น open-label, pragmatic, randomized, controlled trial ผู้ป่วยเหล่านี้มีอายุมากกว่า 60 ปี ในจำนวนนี้ (เท่าที่มีข้อมูล) มี 13,537 คนที่รับประทานแอสไพรินอยู่แล้ว และ 85.3% ได้รับในขนาด 81 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มให้ได้รับแอสไพรินขนาด 81 มิลลิกรัมต่อวัน (7,540 คน) หรือ 325 มิลลิกรัมต่อวัน (7,536 คน) ประเมินผลด้านประสิทธิภาพโดยดูอัตราการตายโดยรวมไม่ว่าจากเหตุใด, อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจาก myocardial infarction หรืออัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจาก stroke ส่วนด้านความปลอดภัยประเมินด้วยอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจาก major bleeding ระยะเวลาติดตามผลมีค่ากลาง 26.2 เดือน (interquartile range = 19.0-34.9 เดือน) ผลการศึกษา (ดูตาราง) พบการตาย, การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจาก myocardial infarction หรือเนื่องจาก stroke ในกลุ่มที่ได้รับแอสไพรินขนาด 81 มิลลิกรัมเกิดขึ้น 590 คน (ประมาณ 7.28%) และในกลุ่มที่ได้รับแอสไพรินขนาด 325 มิลลิกรัมเกิดขึ้น 569 คน (ประมาณ 7.51%) (hazard ratio = 1.02; 95% CI = 0.91-1.14) ในด้านการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจาก major bleeding ในกลุ่มที่ได้รับแอสไพรินขนาด 81 มิลลิกรัมเกิดขึ้น 53 คน (ประมาณ 0.63%) และกลุ่มที่ได้รับแอสไพรินขนาด 325 มิลลิกรัมเกิดขึ้น 44 คน (ประมาณ 0.60%) (hazard ratio = 1.18; 95% CI = 0.79-1.77) ส่วนการเปลี่ยนขนาดยาพบว่าผู้ป่วยที่จัดไว้ในกลุ่มที่ได้รับขนาด 325 มิลลิกรัมมีอุบัติการณ์ในการเปลี่ยนขนาดยาสูงกว่าผู้ป่วยที่จัดไว้ในกลุ่มที่ได้รับขนาด 81 มิลลิกรัม (41.6% เทียบกับ 7.1%) และมีจำนวนวันที่ใช้ยาในขนาดตามที่จัดให้น้อยกว่าด้วย (ค่ากลาง 434 วัน, interquartile range = 139-737 วัน เทียบกับ 650 วัน, interquartile range = 415-922 วัน) การศึกษานี้สรุปว่าการใช้แอสไพรินขนาด 81 มิลลิกรัมต่อวันหรือขนาด 325 มิลลิกรัมต่อวันในผู้ป่วย atherosclerotic cardiovascular disease ไม่พบความแตกต่างใน cardiovascular events หรือ major bleeding และผู้ป่วยมีการเปลี่ยนมาใช้ขนาดยา 81 มิลลิกรัมในจำนวนที่มากกว่าการเปลี่ยนไปใช้ขนาดยา 325 มิลลิกรัม

อ้างอิงจาก:

Jones WS, Mulder H, Wruck LM, Pencina MJ, Kripalani S, Muñoz D, et al. Comparative effectiveness of aspirin dosing in cardiovascular disease. N Engl J Med 2021. doi: 10.1056/NEJMoa2102137
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้