ผลของยาคุมชนิดรับประทานต่อความหนาแน่นของมวลกระดูกในหญิงที่ไม่มีประจำเดือน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤศจิกายน ปี 2548 -- อ่านแล้ว 2,523 ครั้ง
Osteopenia หรือการสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mineral density, BMD) พบได้บ่อยในหญิงที่ไม่มีประจำเดือนเนื่องจากการทำงานของ hypothalamus (hypothalamic amenorrhea, HA) ที่มีผลให้การสร้างเอสโตรเจนลดลง osteopenia นี้อาจทำให้เกิดผลที่รุนแรงตามมา ได้แก่ ทำให้เกิดกระดูกพรุน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการหักของกระดูกในหญิงวัยรุ่นที่มีภาวะ HA ดังนั้นหากมีระดับเอสโตรเจนที่เพียงพอจะส่งผลต่อการเพิ่มมวลกระดูกเท่าที่สามารถจะทำได้ในช่วงวัยรุ่น
การศึกษาการใช้ยาคุมชนิดรับประทานชนิด triphasic แบบระยะยาวต่อ BMD ในหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่มีภาวะ HA และ osteopenia อายุอยู่ในช่วง 18-40 ปีและมีค่า BMD น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.937 กรัมต่อตารางเซนติเมตร การศึกษามี 2 ระยะ ในระยะแรกเป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled, parallel group study แบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานยาคุมชนิดรับประทานชนิด triphasic ที่ประกอบด้วย norgestimate 180-250 ไมโครกรัมและ ethinyl estradiol 35 ไมโครกรัม (NGM/EE) เทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอกเป็นเวลา 3 รอบประจำเดือน การศึกษาในระยะนี้พบว่าระดับของ biochemical marker ในกระบวนการ bone metabolism ทั้ง bone resorption และ bone formation ในกลุ่มที่รับประทาน NGM/EE ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก หญิงที่ผ่านการศึกษาในระยะแรกจะได้รับคัดเลือกเข้าสู่การศึกษาในระยะที่สองต่อจากระยะแรกเลย ในระยะที่สองนี้เป็นการศึกษาแบบ open-label extension phase ที่มี 2 กลุ่มเหมือนในระยะแรก แต่หญิงทั้ง 2 กลุ่มจะรับประทาน NGM/EE เหมือนกันวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 10 รอบประจำเดือน ประเมินผลแบบ intention-to-treat เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของ BMD ของกระดูกสันหลังบริเวณ L1-L4 และบริเวณสะโพก รวมทั้งวิเคราะห์ biochemical marker และค่าอื่นๆที่สัมพันธ์กับ BMD รวมทั้งอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เมื่อสิ้นสุดการศึกษา หญิงที่รับประทาน NGM/EE อย่างน้อย 10 รอบประจำเดือน จะมี BMD ของกระดูกสันหลังบริเวณ L1-L4 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีผลต่อ BMD ที่บริเวณสะโพก ค่า biochemical marker ทุกตัวลดลงจาก baseline ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในระยะแรก แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว, bone mass density, body fat และ percent body fat ซึ่งเป็นค่าที่สัมพันธ์กับ BMD ในการรักษาแบบระยะยาวนี้ผู้ที่ได้รับยามีความปลอดภัยและทนต่อยาได้ดี อาการข้างเคียงพบน้อยและมักเป็นระดับอ่อนถึงปานกลาง อาการที่พบบ่อย คือ ซึมเศร้า และติดเชื้อที่ระบบหายใจส่วนบน
การรับประทานยาคุมชนิดรับประทานชนิด triphasic (NGM/EE) เป็นเวลานานในหญิงที่มีภาวะ HA และ osteopenia จึงอาจจะมีผลเพิ่ม BMD ของกระดูกสันหลังบริเวณ L1-L4 อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีผลต่อ BMD ที่บริเวณสะโพก