Avatrombopag…thrombopoietin receptor agonist รักษาภาวะเกล็ดเลือดน้อย
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 7,275 ครั้ง
Thrombopoietin (TPO) หรือรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ megakaryocyte growth and development factor ในร่างกาย TPO สร้างที่ตับ (เป็นส่วนใหญ่) และไต เมื่อ TPO จับกับตัวรับที่ megakaryocyte progenitor cells จะกระตุ้นการเจริญและพัฒนาการของ megakaryocytes ทำให้เกิดการสร้างเกล็ดเลือดจำนวนมากมาย ดังนั้น TPO จึงทำหน้าที่ควบคุมการสร้างเกล็ดเลือด (thrombopoiesis)
ในผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดน้อย (thrombocytopenia) และเป็นโรคตับเรื้อรัง หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการอื่นบางอย่างอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหล (bleeding) ได้ จึงต้องมีการให้เกล็ดเลือด (platelet transfusion) ก่อนเข้ารับการผ่าตัด นอกจากนี้การให้ยาที่ออกฤทธิ์จับกับตัวรับของ TPO และทำหน้าที่ควบคุมการสร้างเกล็ดเลือดได้เช่นเดียวกับ TPO (thrombopoietin receptor agonist หรือ TPO receptor agonist) เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการเพิ่มปริมาณเกล็ดเลือดในผู้ป่วยดังกล่าว ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มียาใหม่ที่เป็น TPO receptor agonist ออกวางจำหน่าย คือ avatrombopag ยานี้เป็นสารเคมีสังเคราะห์ ทำเป็นยาเม็ดโดยตัวยาอยู่ในรูปเกลือ maleate ขนาดความแรง 20 มิลลิกรัม มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะเกล็ดเลือดน้อยในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับเรื้อรังที่เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดรวมถึงการทำหัตถการบางอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหล รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร นานติดต่อกัน 5 วัน โดยเริ่มต้น 10-13 วันก่อนเข้ารับการผ่าตัด ขนาดยาขึ้นกับจำนวนเกล็ดเลือด หากมีจำนวนต่ำกว่า 40 x10(9) ต่อลิตร ให้รับประทานครั้งละ 60 มิลลิกรัม และหากมีจำนวนตั้งแต่ 40 x10(9) ต่อลิตร แต่ไม่ถึง 50 x10(9) ต่อลิตร ให้รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม ทั้งนี้ผู้ป่วยควรเข้ารับการผ่าตัด 5-8 วันหลังจากรับประทานยาครั้งสุดท้าย
การที่ยานี้ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษา เป็นการศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trials (ADAPT-1 และ ADAPT-2) ในผู้ใหญ่ 435 คน ที่ป่วยเป็นโรคตับเรื้อรังและมีภาวะเกล็ดเลือดน้อยซึ่งเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการอื่นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหล โดยทั่วไปแล้วต้องให้เกล็ดเลือดแก่ผู้ป่วยเหล่านี้ แต่การศึกษานี้ได้เปรียบเทียบผลของการให้ avatrombopag 2 ขนาด คือ 60 มิลลิกรัม และ 40 มิลลิกรัม (n=277) เทียบกับยาหลอก (n=158) ซึ่งยาขนาด 60 มิลลิกรัมจะให้กับผู้ป่วยที่มีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 40 x10(9) ต่อลิตร และยาขนาด 40 มิลลิกรัมจะให้กับผู้ป่วยที่มีจำนวนเกล็ดเลือดตั้งแต่ 40 x10(9) ต่อลิตร แต่ไม่ถึง 50 x10(9) ต่อลิตร โดยให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน ก่อนการผ่าตัด ประเมินผลการศึกษาโดยดูจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับเกล็ดเลือดหรือการรักษาพิเศษเพื่อลดอันตราย (rescue therapy) นับตั้งแต่วันที่มีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยต่อเนื่องจนถึง 7 วันหลังการผ่าตัด (หรือทำหัตถการอื่น) ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้ยาทั้งสองขนาดมีจำนวนเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มยาหลอก และมีจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับเกล็ดเลือดหรือการรักษาพิเศษเพื่อลดอันตรายในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มยาหลอกดังนี้ ใน ADAPT-1 เท่ากับ 66% เทียบกับ 23% และ ADAPT-2 เท่ากับ 69% เทียบกับ 35% อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนล้า ปวดท้อง คลื่นไส้ แขน-ขาบวม
อ้างอิงจาก:
(1)Terrault N, Chen YC, Izumi N, Kayali Z, Mitrut P, Tak WY, et al. Avatrombopag before procedures reduces need for platelet transfusion in patients with chronic liver disease and thrombocytopenia. Gastroenterology 2018;155:705-18; (2) Shirley M. Avatrombopag: first global approval. Drugs 2018;78:1163-8; (3) Doptelet (avatrombopag). Highlights of prescribing information. Reference ID: 4265846, revised: 05/2018. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/210238s000lbl.pdf.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
thrombopoietin
TPO
megakaryocyte growth and development factor
megakaryocyte progenitor cells
megakaryocytes
thrombopoiesis
ภาวะเกล็ดเลือดน้อย
thrombocytopenia
โรคตับเรื้อรัง
ภาวะเลือดไหล
bleeding
platelet transfusion
thrombopoietin recep