Etelcalcetide…calcium-sensing receptor agonist สำหรับรักษาภาวะ secondary hyperparathyroidism
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กันยายน ปี 2560 -- อ่านแล้ว 8,310 ครั้ง
Hyperparathyroidism เป็นภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์หลั่ง parathyroid hormone (PTH) มากเกิน ทำให้มีระดับ PTH ในเลือดสูง แบ่งออกเป็น primary hyperparathyroidism เกิดจากความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์โดยมีการทำงานมากขึ้นทำให้หลั่ง PTH มากขึ้น secondary hyperparathyroidism เกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำที่ส่งผลกระตุ้นการหลั่ง PTH ซึ่งการมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำอาจเนื่องจากมีการดูดซึมจากทางเดินอาหารน้อยหรือมีภาวะไตวายเรื้อรัง และ tertiary hyperparathyroidism เกิดในผู้ป่วย secondary hyperparathyroidism ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือในผู้ป่วยที่รับการเปลี่ยนถ่ายไตมาแล้วแต่ยังคงมีระดับ PTH ในเลือดสูง ซึ่งการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์จะไม่ขึ้นกับระดับแคลเซียมในเลือด ต่อมยังคงทำงานมากและหลั่ง PTH มาก
ตัวรับชนิด calcium-sensing receptor อยู่บน chief cell ของต่อมพาราไทรอยด์ ระดับแคลเซียม (แคลเซียมอิออน) ในเลือดที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นตัวรับนี้และทำให้ลดการหลั่ง PTH สู่กระแสเลือด เป็นการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนแบบ negative feedback ดังนั้นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับนี้ (calcium-sensing receptor agonists) เช่น ยาที่ออกฤทธิ์เลียนแบบแคลเซียมที่เนื้อเยื่อ (calcimimetics) ตัวอย่างได้แก่ cinacalcet, etelcalcetide จึงมีฤทธิ์ลดการหลั่ง PTH ได้ ซึ่ง etelcalcetide (ชื่อเดิมคือ velcalcetide) เป็นยาใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะ secondary hyperparathyroidism ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ทำ hemodialysis ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ก่อนให้ยาต้องมั่นใจว่าระดับแคลเซียม (ค่า corrected serum calcium) ไม่ต่ำกว่าค่าล่างของค่าปกติ เริ่มให้ขนาด 5 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำรวดเดียว (IV bolus injection) ภายหลังสิ้นสุดการทำ hemodialysis ฉีดยาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนขนาดยาที่ใช้เป็น maintenance dose ในผู้ป่วยแต่ละรายให้ปรับจนระดับ PTH อยู่ช่วงที่ต้องการและระดับแคลเซียมอยู่ในช่วงปกติ ขนาดยาต่ำสุดที่เป็น maintenance dose คือ 2.5 มิลลิกรัม ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และขนาดยาสูงสุดที่เป็น maintenance dose คือ 15 มิลลิกรัม ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยทุกครั้งจะฉีดภายหลังสิ้นสุดการทำ hemodialysis
การที่ etelcalcetide ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษาที่เป็น randomized, double-blind, placebo-controlled trials ศึกษานาน 26 สัปดาห์ ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็น secondary hyperparathyroidism ระดับปานกลางถึงรุนแรง (PTH สูงกว่า 400 พิโกกรัม (pg)/มิลลิลิตร) และได้รับการทำ hemodialysis จำนวน 1,023 คน ให้ยาหรือยาหลอก ขนาดยาเริ่มด้วย 5 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำรวดเดียวภายหลังสิ้นสุดการทำ hemodialysis ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ผู้ป่วยทุกรายได้รับการปฏิบัติแบบมาตรฐานซึ่งรวมถึงการได้รับวิตามินดีและ/หรือ phosphate binder ปรับขนาดยาทุก 4 สัปดาห์จนถึงขนาดสูงสุดในสัปดาห์ที่ 17 คือ 15 มิลลิกรัม ฉีดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอกพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่มี PTH ในเลือดลดลงถึงระดับที่ต้องการในกลุ่มที่ได้รับ etelcalcetide มีจำนวนที่มากกว่า อีกทั้งยาสามารถลดระดับ PTH แคลเซียม และฟอสเฟตลงต่ำกว่าระดับเริ่มต้น (baseline) ได้มากกว่ายาหลอกในทั้งสองการศึกษา อาการไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจพบ เช่น ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia)
อ้างอิงจาก:
(1) Shigematsu T, Fukagawa M, Yokoyama K, Akiba T, Fujii A, Odani M, et al. Long-term effects of etelcalcetide as intravenous calcimimetic therapy in hemodialysis patients with secondary hyperparathyroidism. Clin Exp Nephrol 2017. doi: 10.1007/s10157-017-1442-5; (2) Etelcalcetide. https://www.rxlist.com/parsabiv-drug.htm; (3) Hamano N, Komaba H, Fukagawa M. Etelcalcetide for the treatment of secondary hyperparathyroidism. Expert Opin Pharmacother 2017;18:529-34.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
etelcalcetide
calcium-sensing receptor agonist
secondary hyperparathyroidism
parathyroid hormone
PTH
primary hyperparathyroidism
ต่อมพาราไทรอยด์
เนื้องอก
แคลเซียมสูง
ฟอสเฟตต่ำ
วิตามินดี
แคลเซียมในเลือดต่ำ
โรคไตเรื้อรัง
tertiary hyperpara