หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Daclizumab กับความเสี่ยงต่อการเกิดพิษรุนแรงต่อตับในผู้ป่วยโรค multiple sclerosis

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กรกฎาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 2,385 ครั้ง
 
Daclizumab เป็น humanized monoclonal antibody ที่จับจำเพาะกับ alpha subunit ของ interleukin-2 receptor (IL-2Rα หรือ CD25) เป็นยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) มีข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อไตที่ปลูกถ่ายโดยใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น และเมื่อปีที่แล้วยานี้ได้รับข้อบ่งใช้ในบางประเทศสำหรับรักษาโรค multiple sclerosis (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “Daclizumab กับข้อบ่งใช้ใหม่สำหรับรักษา multiple sclerosis” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กันยายน ปี 2559)

แม้ว่า daclizumab จะนำมาใช้รักษาโรค multiple sclerosis ได้ไม่นาน ในสหภาพยุโรปมีรายงานถึงการเกิดความเป็นพิษต่อตับแบบกะทันหันและร้ายแรง (fulminant liver failure) ในผู้ป่วยโรค multiple sclerosis ที่ใช้ daclizumab จนถึงขั้นเสียชีวิต 1 ราย และมีอีก 4 รายที่ตับได้รับอันตรายอย่างร้ายแรง ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดตับเสียจากการใช้ daclizumab รวมถึงมาตรการที่จะจัดการกับความเสี่ยงนี้มีแจ้งไว้แล้วในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ภัณฑ์ยา อย่างไรก็ตามมีผู้เสียชีวิตทั้งๆ ที่ได้ทำตามข้อแนะนำในการติดตามการทำงานของตับ อีกทั้งผลทดสอบการทำงานของตับก่อนได้รับยาและระหว่างได้รับยาก็อยู่ในช่วงปกติ ทำให้ European Medicines Agency (EMA) โดย Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC) ได้ทำการทบทวนข้อมูลอย่างเร่งด่วนและได้แนะนำให้วางมาตรการในเบื้องต้นดังนี้

- จำกัดข้อบ่งใช้ daclizumab โดยให้ใช้รักษาโรค multiple sclerosis เฉพาะกรณีดังนี้

(1) relapsing multiple sclerosis ที่กำเริบอย่างรวดเร็ว (highly active relapsing multiple sclerosis) และล้มเหลวต่อการรักษาด้วย disease-modifying drug อย่างน้อย 1 อย่าง

(2) relapsing multiple sclerosis ขั้นรุนแรง (severe relapsing multiple sclerosis) และไม่อาจรักษาด้วย disease-modifying drug ชนิดอื่น

- ไม่ใช้กับผู้ที่มีตับเสียอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา daclizumab ได้มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคตับอยู่ก่อนหรือผู้ที่ตับทำงานบกพร่องไว้แล้ว อีกทั้งไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีระดับ alanine aminotransaminase (ALT) หรือ aspartate aminotransferase (AST) เท่ากับหรือมากกว่า 2 เท่าของค่าสูงสุดที่ปกติ (≥ 2 times the upper limit of normal)

- ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคภูมิต้านตนเองชนิดใดๆ ที่นอกจาก multiple sclerosis

- ระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาอื่นที่อาจเป็นพิษต่อตับรวมถึงสมุนไพร

- ก่อนเริ่มให้ยาควรวัดระดับ ALT, AST และบิลิรูบิน และแพทย์ควรหมั่นติดตามการทำงานของตับ (ดูระดับ ALT, AST และบิลิรูบิน) ตามสิ่งบ่งชี้ทางคลินิกโดยอย่างน้อยทุกเดือนตลอดช่วงที่ให้ยาและติดตามต่อไปอีกจนถึง 4 เดือนภายหลังให้ยาครั้งสุดท้าย

- แพทย์ควรเฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงที่ผิดปกติทางคลินิกและ/หรือผลทางห้องปฏิบัติการที่บ่งชี้ว่าตับเสีย ควรหยุดยาและส่งต่อผู้ป่วยให้กับแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคตับ

- ย้ำเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะการเกิดอันตรายต่อตับตามคำเตือนที่มีแจ้งไว้แล้วในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ภัณฑ์ยา daclizumab

- แพทย์ควรให้ข้อมูลกับผู้ป่วยถึงความเสี่ยงต่อตับ พร้อมทั้งแนะนำผู้ป่วยให้แจ้งแพทย์ทันทีหากเกิดอาการใดๆ ที่อาจบ่งชี้ว่าตับผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีคล้ำ ในรายที่มีระดับ transaminases และ/หรือบิลิรูบินสูง อาจต้องหยุดยาชั่วคราวหรือเลิกใช้ยา

- แพทย์ควรทบทวนการให้ daclizumab แก่ผู้ป่วยไม่ว่ารายใดเพื่อประเมินว่ายายังคงมีความเหมาะสมกับผู้ป่วย ทั้งนี้รวมถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยถึงความเสี่ยงต่อตับที่อาจเกิดจากการใช้ยาด้วย ควรพิจารณาหยุดให้ยาหากผู้ป่วยนั้นไม่อยู่ในข่ายของข้อบ่งใช้ข้างต้นหรือผู้ป่วยให้การตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ

อ้างอิงจาก:

(1) Daclizumab (Zinbryta) and risk of severe liver injury: initiation in multiple sclerosis now restricted, promptly review patients already on treatment: Drug Safety Update volume 10 issue 12, July 2017: 1; (2) Daclizumab. http://www.rxlist.com/zinbryta-drug.htm; (3) Shirley M. Daclizumab: a review in relapsing multiple sclerosis. Drugs 2017;77:447-58.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
daclizumab humanized monoclonal antibody alpha subunit interleukin-2 receptor IL-2Rα CD25 ยากดภูมิคุ้มกัน immunosuppressive ป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อไต ยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น multiple sclerosis fulminant liver failure European Medi
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้