หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Valproate…เพิ่มมาตรการจำกัดการใช้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2560 -- อ่านแล้ว 3,423 ครั้ง
 
Valproate เป็นยากันชัก (anticonvulsant) นอกจากใช้รักษาโรคลมชัก (epilepsy) แล้ว ยังใช้รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) และบางผลิตภัณฑ์ใช้ป้องกันอาการของโรคไมเกรน (migraine) ด้วย ก่อนหน้านี้มีข้อมูลเกี่ยวกับ valproate (valproic acid) ว่าอาจลดค่าไอคิว (IQ scores) ของเด็กที่มารดาได้รับยาช่วงตั้งครรภ์ และประมาณ 10-11% มีความเสี่ยงต่อความพิการหลังคลอด เช่น มีความผิดปกติของท่อระบบประสาท (neural tube defects) และเพดานโหว่ (cleft palate) มีข้อมูลอีกว่าเด็กที่สัมผัสยาผ่านทางมารดาขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มโรคออทิสติก (autistic spectrum disorder) และโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้ในเด็กก่อนวัยเรียนราว 30-40% ที่มารดาได้รับยาขณะตั้งครรภ์มีปัญหาด้านพัฒนาการ ที่ผ่านมามีหลายประเทศได้เข้มงวดการใช้ valproate ในหญิงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ (ดูข้อมูลได้ในเรื่อง “Valproic acid ไม่ปลอดภัยในหญิงมีครรภ์” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2557)

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีคำเตือนอย่างต่อเนื่องถึงความเสี่ยงจากการใช้ valproate ต่อการเกิดความพิการของทารกหลังคลอดอีกทั้งเป็นที่ทราบกันดีของแพทย์ผู้สั่งใช้ยา แต่ด้านผู้ป่วยเองยังไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร (UK) โดยหน่วยงาน MHRA (the Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency) ในสังกัดของ Department of Health จึงได้ย้ำเตือนถึงมาตรการจำกัดการใช้ที่เคยแจ้งไว้แล้วรวมถึงการเพิ่มเติมมาตรการบางอย่างที่เกี่ยวกับการใช้ valproate ในสตรีและเด็กผู้หญิงวัยรุ่นโดยผ่านทางแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาดังนี้

- ไม่ให้สั่งจ่าย valproate เพื่อรักษาโรคลมชักหรือโรคอารมณ์สองขั้วแก่ผู้ป่วยสตรีและเด็กผู้หญิงวัยรุ่น เว้นแต่ว่าการรักษาอย่างอื่นใช้ไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยทนต่อการรักษาอื่นไม่ได้ และยานี้ไม่ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้เกี่ยวกับโรคไมเกรน

- ต้องมั่นใจว่าสตรีและเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่มีศักยภาพพร้อมจะตั้งครรภ์ที่จะใช้ยา valproate มีความเข้าใจแล้วว่าการใช้ยามีความเสี่ยงสูงถึง 30-40% ที่จะเกิดปัญหาด้านพัฒนาการทางระบบประสาทของทารก และทารกราว 10% มีความเสี่ยงต่อความพิการหลังคลอด และมีความเข้าใจด้วยว่าต้องใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ

- การเริ่มต้นใช้ยา valproate ในสตรีและเด็กผู้หญิงที่มีศักยภาพพร้อมที่จะตั้งครรภ์นั้น การสั่งใช้หรือการควบคุมดูแลต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาโรคลมชักหรือโรคอารมณ์สองขั้ว

นอกจากนี้หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นยังมีแนวคิดถึงมาตรการ “Patient Safety Alerts” เพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายน 2017 นี้ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามข้อมูลให้ถึงตัวผู้ป่วยที่เป็นสตรีและเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่ใช้ยา valproate พร้อมกันนี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (มีนาคม 2017) the EMA’s Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC) ได้เริ่มทบทวนการใช้ valproate ในสตรีที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในวัยที่พร้อมจะตั้งครรภ์เพื่อประเมินด้านประโยชน์และความเสี่ยง เพื่อนำไปกำหนดมาตรการในการใช้ valproate ในสตรีและเด็กผู้หญิงวัยรุ่นเพิ่มเติมต่อไป ขณะนี้การทบทวนกำลังดำเนินอยู่

อ้างอิงจาก:

(1) Patient Safety Alerts. Resources to support the safety of girls and women who are being treated with valproate, 6 April 2017. Alert reference number: NHS/PSA/RE/2017/002. https://improvement.nhs.uk/uploads/documents/Patient_Safety_Alert_-_Resources_to_support_safe_use_of_valproate.pdf; (2) Valproate and neurodevelopmental disorders: new alert asking for patient review and further consideration of risk minimisation measures. Drug Safety Update Volume 10 Issue 9 April 2017; (3) Update report on the utilisation of sodium valproate in women (16-44 years). Medicines Management Programme March 2017. https://www.hse.ie/eng/about/Who/clinical/natclinprog/medicinemanagementprogramme/yourmedicines/PatientInformation/Valproate/Sodium-Valporate-March-2017-Report.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
valproate valproic acid anticonvulsant epilepsy bipolar disorder migraine IQ score neural tube defect cleft palate Pharmacovigilance Risk Assessment Committee PRAC European Medicines Agency EMA autistic spectrum disorder ยากันชัก โรคลม
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้