หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Fluoroquinolones…เตือนอีกครั้งถึงความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเอ็นและระบบประสาท

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มีนาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 12,598 ครั้ง
 
Fluoroquinolones เป็นยาต้านจุลชีพที่มีบทบาทมากในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก (gram-positive bacteria) และแกรมลบ (gram-negative bacteria) อาการไม่พึงประสงค์โดยทั่วไปเกิดไม่รุนแรง ผู้ป่วยทนต่อการใช้ยาได้ดี อย่างไรก็ตาม ภายหลังการวางจำหน่ายมีข้อมูลออกมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดผลเสียต่อเอ็นโดยเกิดเอ็นอักเสบ (tendinitis) และเอ็นฉีก (tendon rupture) นอกจากนี้ยังอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเกิดความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy) เส้นประสาทเกิดความเสียหาย (nerve damage) ผลเสียเหล่านี้อาจเกิดเร็วภายในไม่กี่ชัวโมงหรือหลายสัปดาห์หลังได้รับยา ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว USFDA ได้ออกคำเตือนที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “Fluoroquinolones กับความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อฯ...update” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กรกฎาคม ปี 2559) เมื่อต้นปีนี้ประเทศแคนาดาโดยองค์กร Health Canada ได้เตือนอีกในเรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากผลการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ fluoroquinolones ชนิดรับประทานและชนิดฉีด (ครอบคลุมถึง ciprofloxacin, levofloxacin, moxifloxacin, norfloxacin และ ofloxacin) ประกอบกับรายงานที่ได้รับพบว่าการใช้ fluoroquinolones มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อเอ็นและระบบประสาท (เกิดโรคเส้นประสาทส่วนปลาย และอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เวียนศีรษะ สับสน) อาจเกิดในระดับรุนแรงและเรื้อรัง แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยาก ขณะนี้องค์กร Health Canada ยังคงทำการศึกษาต่อไปอีกโดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในการใช้ยา ในขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตยาในกลุ่ม fluoroquinolones ให้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจเกิดผลเสียดังกล่าวไว้ในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งมีข้อแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยดังนี้

- การสั่งใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones ให้คำนึงถึงอาการไม่พึงประสงค์ของยาต่อเอ็นและระบบประสาทซึ่งอาจเกิดแบบรุนแรงและเรื้อรังได้

- หลีกเลี่ยงการสั่งใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones ให้กับผู้ป่วยที่มีประวัติว่าเคยเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการใช้ยาในกลุ่มนี้

- หยุดการรักษาด้วยยาในกลุ่ม fluoroquinolones หากผู้ป่วยแจ้งว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่รุนแรง และหากจำเป็นต้องให้การรักษาต่อ ควรเปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดอื่นที่ไม่ใช่ยาในกลุ่ม fluoroquinolones

- อาการไม่พึงประสงค์บางอย่างอาจเกิดเร็วภายในไม่กี่ชัวโมงหรือหลายสัปดาห์หลังได้รับยาในกลุ่ม fluoroquinolones

ส่วนในยุโรป European Medicines Agency (EMA) อยู่ระหว่างทบทวนถึงความปลอดภัยในการใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones และ quinolones ชนิดอื่นด้วยเช่นเดียวกัน (เริ่มเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560) ซึ่งครอบคลุมถึง cinoxacin, ciprofloxacin, enoxacin, flumequine, levofloxacin, lomefloxacin, moxifloxacin, nalidixic acid, norfloxacin, ofloxacin, pefloxacin, pipemidic acid, prulifloxacin และ rufloxacin โดยเจาะจงเฉพาะยาที่ใช้โดยการสูด รับประทานและฉีด จะไม่รวมชนิดที่ใช้ภายนอกกับผิวหนังโดยตรงหรือชนิดที่ให้เฉพาะที่กับตาและหู เพื่อประเมินถึงความเรื้อรังของอาการข้างเคียงชนิดที่เกิดรุนแรงซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับกล้ามเนื้อ ข้อต่อและระบบประสาท อาการข้างเคียงเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญโดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ยาเพื่อรักษาการติดเชื้อที่รุนแรงไม่มากนัก

อ้างอิงจาก:

(1) Health Canada. Fluoroquinolones - risk of disabling and persistent serious adverse reactions. http://healthycanadians.gc.ca/recall-alert-rappel-avis/hc-sc/2017/61900a-eng.php; (2) Health Canada. Information update - fluoroquinolone antibiotics may, in rare cases, cause persistent disabling side effects. http://healthycanadians.gc.ca/recall-alert-rappel-avis/hc-sc/2017/61920a-eng.php; (3) European Medicines Agency. EMA to review persistence of side effects known to occur with quinolone and fluoroquinolone antibiotics. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/Referrals_document/Quinolone_fluoroquinolone_31/Procedure_started/WC500221432.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fluoroquinolone ยาต้านจุลชีพ gram-positive bacteria (gram-negative bacteria tendinitis tendon rupture กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเส้นประสาทส่วนปลาย peripheral neuropathy nerve damage USFDA Health Canada ciprofloxacin levofloxacin moxifloxacin
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้