หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

IL-5…เป้าหมายของยารักษาโรคหืด

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ธันวาคม ปี 2559 -- อ่านแล้ว 9,662 ครั้ง
 

โรคหืด (asthma) เป็นโรคเรื้อรังที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจและเกิดอุดกั้นได้ ทางเดินหายใจจะมีภาวะไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น ความรุนแรงของโรคแบ่งเป็นระดับอ่อน ระดับปานกลางและระดับรุนแรงจนอาจเสี่ยงต่อชีวิต พยาธิกำเนิดของโรคนี้หากพิจารณาในระดับเซลล์จะมีกลไกที่ซับซ้อนและหลากหลาย โรคหืดจึงมีได้หลายแบบและอาจตอบสนองต่อยารักษาโรคหืดที่ใช้กันอยู่ได้แตกต่างกัน เช่น eosinophilic asthma จะพบ eosinophils ในปอด ทางเดินหายใจและเสมหะได้แม้ได้รับการรักษาด้วยการพ่นยาสเตียรอยด์ขนาดสูงก็ตาม (steroid-resistant eosinophilic asthma) ผู้ป่วยเหล่านี้จึงมีคุณภาพชีวิตไม่ดี ยารักษาโรคหืดชนิดใหม่ๆ จึงเป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้

Eosinophils เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการติดเชื้อโดยเฉพาะพวกปรสิตและเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ มีบทบาทสำคัญในพยาธิกำเนิดและความรุนแรงของโรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรังรวมถึงโรคหืด พบภาวะที่มี eosinophils สูง (eosinophilia) ในเนื่อเยื่อ ในเลือดและในเสมหะของผู้ป่วยโรคหืดได้ ซึ่ง eosinophils ที่เนื่อเยื่อสร้าง proinflammatory mediators มากมาย เป็นสารในกลุ่ม granule-derived basic proteins, lipid mediators, cytokines และ chemokines ซึ่งสารเหล่านี้ทำให้ทางเดินหายใจอักเสบและไวต่อสิ่งกระตุ้นจึงมีบทบาทมากในโรคหืด นอกจากนี้บางชนิดยังทำให้ทางเดินหายใจเกิดการปรับรูป (airway remodeling) โดยทำให้เกิดเนื้อเยื่อพังผืด การงอกของเส้นเลือดและการหนาตัวของผนังทางเดินหายใจ ในร่างกาย interleukin-5 (IL-5) ซึ่งเป็น human eosinophilopoietin กระตุ้นการสร้าง การเจริญ พัฒนาการ การดำรงชีวิตและการปลุกฤทธิ์ eosinophils ได้ IL-5 หลั่งจาก Th2 cells, innate lymphoid cells (type 2) และ mast cells (ดูรูป) ทำให้ IL-5 เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในการคิดค้นยารักษาโรคหืดโดยเฉพาะ eosinophilic asthma ตัวอย่าง เช่น mepolizumab, reslizumab และ benralizumab ยาสองชนิดแรกเป็นแอนติบอดีที่เจาะจงในการจับกับ IL-5 ส่วนชนิดสุดท้ายเป็นแอนติบอดีที่เจาะจงในการจับกับตัวรับของ IL-5

อ้างอิงจาก:

(1) Patterson MF, Borish L, Kennedy JL. The past, present, and future of monoclonal antibodies to IL-5 and eosinophilic asthma: a review. J Asthma Allergy 2015;8:125-34; (2) Wang FP, Liu T, Lan Z, Li SY, Mao H. Efficacy and safety of anti-interleukin-5 therapy in patients with asthma: a systematic review and meta-analysis. PLoS One 2016;11(11):e0166833. doi: 10.1371/journal.pone.0166833; (3) Canonica GW, Senna G, Mitchell PD, O’Byrne PM, Passalacqua G, Varricchi G. Therapeutic interventions in severe asthma. World Allergy Organ J 2016;9:40. doi 10.1186/s40413-016-0130-3.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคหืด asthma การอักเสบของทางเดินหายใจ ภาวะไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น eosinophilic asthma eosinophil steroid-resistant eosinophilic asthma การติดเชื้อปรสิต eosinophilia proinflammatory mediator granule-derived basic protein lipid mediator cytok
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้