Adalimumab กับข้อบ่งใช้ใหม่สำหรับรักษา uveitis
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน สิงหาคม ปี 2559 -- อ่านแล้ว 8,574 ครั้ง
Adalimumab เป็นยาประเภท monoclonal antibody ที่จับจำเพาะกับ tumor necrosis factor-alpha (TNF-α) จึงยับยั้งฤทธิ์ TNF-α จัดเป็นยาในกลุ่ม TNF-α inhibitors (หรือ anti-TNF drugs) เช่นเดียวกับ infliximab, certolizumab, golimumab ซึ่ง TNF-α มีบทบาทในพยาธิสรีรภาพที่เกี่ยวกับการตอบสนองด้านการอักเสบและภูมิคุ้มกัน เกี่ยวข้องกับการก่อโรคหลายอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis), โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis), โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (ankylosing spondylitis), โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease; IBD) ทั้งชนิด Crohn's disease และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (ulcerative colitis) และยังรวมถึงผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) ซึ่งโรคต่างๆ ที่กล่าวมานี้นอกจาก TNF-α แล้ว ยังมีไซโตไคน์ (cytokines) ชนิดอื่นที่มีบทบาทด้านก่อการอักเสบร่วมเกี่ยวข้องด้วย ยาทั้งหลายในกลุ่ม TNF-α inhibitors มีศักยภาพในการรักษาโรคเหล่านี้ และเมื่อเร็วๆ นี้ adalimumab ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ เป็นยาตัวแรกในกลุ่ม TNF-α inhibitors ที่ได้รับข้อบ่งใช้นี้ ทำให้ปัจจุบันในบางประเทศยานี้มีข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆ แล้วถึง 9 อย่าง ได้แก่ rheumatoid arthritis, juvenile idiopathic arthritis, psoriatic arthritis, ankylosing spondylitis, Crohn's disease (รวมในเด็กด้วย), ulcerative colitis, plaque psoriasis, hidradenitis suppurativa และ uveitis สำหรับขนาดยาในการรักษาผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบให้เริ่มด้วย 80 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ต่อมาฉีด 40 มิลลิกรัม จากนั้นฉีด 40 มิลลิกรัม ทุก 2 สัปดาห์
การที่ adalimumab ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้สำหรับผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุน 2 การศึกษา เป็น randomized, double-masked, placebo-controlled trals คือ UV I ซึ่งศึกษาในผู้ที่กำลังเกิดอาการของผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (active uveitis) (n=217) และ UV II ซึ่งศึกษาในผู้ที่ไม่ได้กำลังเกิดอาการของผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (inactive uveitis) (n=226) ให้ adalimumab ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยเริ่มด้วย 80 มิลลิกรัม สัปดาห์ต่อมาฉีด 40 มิลลิกรัม จากนั้นฉีด 40 มิลลิกรัม ทุก 2 สัปดาห์ เทียบกับยาหลอก ซึ่งเมื่อเริ่มทำการศึกษาผู้ป่วยทุกรายรับประทาน prednisone อยู่ก่อน จึงค่อยๆ ลดขนาด prednisone และหยุดใช้ในสัปดาห์ที่ 15 สำหรับ UV I และสัปดาห์ที่ 19 สำหรับ UV II ประเมินผลเบื้องต้นจากระยะเวลาที่ใช้ยาไม่ได้ผลอีกต่อไป (treatment failure) ผลการศึกษาพบว่า adalimumab ให้ผลการรักษาดีกว่ายาหลอก โดยอัตราความล้มเหลวในการรักษาในกลุ่มที่ได้รับ adalimumab เทียบกับยาหลอก กรณีการศึกษา UV I เท่ากับ 54.5% เทียบกับ 78.5% ส่วนการศึกษา UV II เท่ากับ 39.1% เทียบกับ 55.0% อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น
อ้างอิงจาก:
1. Mérida S, Palacios E, Navea A, Bosch-Morell F. New immunosuppressive therapies in uveitis treatment. Int J Mol Sci 2015;16:18778-95; (2) Adalimumab. http://www.rxlist.com/humira-drug.htm; (3) White V. FDA approves adalimumab for the treatment of non-infectious uveitis (1 July 2016). http://www.europeanpharmaceuticalreview.com/42175/news/industry-news/fda-adalimumab-abbvie/
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
adalimumab
monoclonal antibody
tumor necrosis factor-alpha
TNF-α
TNF-α inhibitor
anti-TNF drug
infliximab
certolizumab
golimumab
rheumatoid arthritis
psoriasis
ankylosing spondylitis
inflammatory bowel disease
IBD
Crohn's