หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Strontium กับ cardiovascular risks...ไม่เพียงแค่ strontium ranelate

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2559 -- อ่านแล้ว 5,767 ครั้ง
 
จากการที่ European Medicines Agency (EMA) ได้เคยทบทวนข้อมูลและได้มีคำเตือนออกมาระยะหนึ่งแล้วถึงการใช้ strontium ranelate กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจ เช่น myocardial infarction, heart attacks และการเกิดลิ่มเลือด (blood clots) พร้อมทั้งมีมาตรการจำกัดการใช้ที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม ผลิตภํณฑ์สตรอนเชียม (strontium) ยังมีใช้ในรูปอื่น เช่น strontium citrate, strontium carbonate, strontium lactate, strontium gluconate ซึ่งพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพประเภทอื่น การใช้ผลิตภํณฑ์เหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจด้วยหรือไม่?

สตรอนเชียมเป็นธาตุจำเป็นต่อร่างกายในปริมาณน้อย (trace element) ซึ่งในอาหารได้จาก อาหารทะเล น้ำนม รำข้าวสาลี (wheat bran) เนื้อสัตว์ พืชกินหัวที่เป็นราก (root vegetables) เป็นต้น สตรอนเชียมมีสมบัติทางกายภาพและทางเคมีคล้ายแคลเซียมและแบเรียม ในทางยาใช้ strontium ranelate รักษาโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งภายหลังจากที่ EMA พบว่ายาเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจดังกล่าวข้างต้น จึงจำกัดให้ใช้เฉพาะสตรีวัยหมดระดูที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก พร้อมทั้งแนะนำให้รับประทานในขนาดวันละ 680 มิลลิกรัม (ของสตรอนเชียม) ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน โดยไม่ให้ใช้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือด ตลอดจนผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหรือความผิดปกติเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้เป็นผู้ที่มีประวัติของโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือการเกิดลิ่มเลือด strontium ranelate เป็นยาที่มีประโยชน์และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคกระดูกพรุน

ส่วนสตรอนเชียมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพประเภทอื่นรวมถึงยาสีฟันนั้น ในบางประเทศ เช่น แคนาดา โดยองค์กร Health Canada ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าผลจากการทบทวนข้อมูลทางวิชาการจะยังไม่พบความสัมพันธ์ของการใช้ strontium ranelate ในขนาดที่ต่ำกว่า 680 มิลลิกรัมกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจ อีกทั้งไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจจากการได้รับสตรอนเชียมจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก EMA ซึ่งสารสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อหัวใจคือสตรอนเชียมโดยไม่เกี่ยวกับชนิดเกลือ ประกอบกับมาตรฐานในการควบคุมปริมาณสตรอนเชียมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เท่าเทียมกับการผลิตยา อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมในการใช้และอาจมีการใช้เกินขนาดที่แนะนำได้ง่าย ทำให้องค์กร Health Canada แนะนำให้มีคำเตือนถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจให้ครอบคลุมถึงสตรอนเชียมในรูป strontium citrate, strontium lactate, strontium gluconate ซึ่งมีปริมาณสตรอนเชียมในช่วง 4-682 มิลลิกรัมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพประเภทอื่นด้วย โดยให้ผู้ผลิตเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจและไม่ให้ใช้หากผู้บริโภคมีประวัติหรือมีความเสี่ยงสูงที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ การไหลเวียนเลือด หรือการเกิดลิ่มเลือด (blood clots)

อ้างอิงจาก:

(1) Summary safety review - strontium - risk of heart and circulatory side effects, October 22, 2015. http://www.hc-sc.gc.ca/dhp-mps/medeff/reviews-examens/strontium-eng.php; (2) Strontium: cardiovascular risks. WHO Drug Information 2015;29:455; (3) Reginster JY, Brandi ML, Cannata-Andía J, Cooper C, Cortet B, Feron JM, et al. The position of strontium ranelate in today’s management of osteoporosis.Osteoporos Int 2015;26:1667-71.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
cardiovascular risk European Medicines Agency EMA strontium ranelate myocardial infarction heart attack blood clot strontium strontium citrate strontium carbonate strontium lactate strontium gluconate trace element wheat bran root veget
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้