Bisphosphonates เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ที่ใช้กันมาก และยังใช้รักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากเกินไปของเซลล์สลายกระดูก (osteoclast) เช่น Paget's disease ภาวะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและมีการทำลายเนื้อกระดูก (metastatic and osteolytic bone disease) ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเหตุจากโรคมะเร็ง (hypercalcemia of malignancy) ปัจจุบันมียาในกลุ่ม bisphosphonates ออกวางจำหน่ายในประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 11 ชนิด ได้แก่ etidronate, clodronate, tiludronate, pamidronate, alendronate, ibandronate, risedronate, zoledronate, olpadronate, neridronate และ minodronate มีข้อมูลค่อนข้างมากที่เกี่ยวกับการใช้ยาในกลุ่มนี้แล้วลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังกระดูกตลอดจนการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม นอกจากนี้มีการศึกษาที่แสดงว่ายาพวกที่มีไนโตรเจนในโครงสร้าง (N-containing bisphosphonates หรือ aminobisphosphonates) มีฤทธิ์ cytostatic, proapoptotic และ antimetastatic ซึ่งเป็นการสนับสนุนถึงผลดีของยาเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่อการเกิดและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
สำหรับความสัมพันธ์ของการใช้ bisphosphonates กับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นที่นอกเหนือจากมะเร็งเต้านมนั้นมีรายงานรายงานเช่นกัน และเมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของการใช้ bisphosphonates กับการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูก (endometrial cancer) โดยได้ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมใน Women's Health Initiative (WHI) study เป็น prospective cohort study ในสตรีวัยหมดประจำเดือนจำนวน 89,918 คน โดยแบ่งเป็น randomized clinical trials จำนวน 3 การศึกษา (n = 39,261; 44%) และ observational study จำนวน 1 การศึกษา (n = 50,657; 56%) ยาที่ใช้มากที่สุดคือ alendronate (มากกว่า 90%) ระยะเวลาที่ติดตามผลมีค่ากลาง (median) อยู่ที่ 12.5 ปี ผลการศึกษาพบผู้ที่เป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูกแบบลุกลาม (invasive endometrial cancer) 1,123 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 1,070 คนอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ bisphosphonates (อุบัติการณ์คร่าวๆ เท่ากับ 12 per 10,000 person-years) และมี 53 คนอยู่ในกลุ่มที่ใช้ bisphosphonates (อุบัติการณ์คร่าวๆ เท่ากับ 8 per 10,000 person-years) โดยในจำนวนนี้มี 47 คนอยู่ในกลุ่มที่ใช้ alendronate (อุบัติการณ์คร่าวๆ เท่ากับ 7 per 10,000 person-years) สรุปได้ว่าการใช้ bisphosphonates ในสตรีวัยหมดประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูก (bisphosphonate users: adjusted hazard ratio = 0.80, 95% CI = 0.64-1.00; p = 0.05; alendronate users: adjusted hazard ratio = 0.77, 95% CI = 0.61-0.98, p = 0.03) ส่วนกลไกยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับการที่ยาช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังกระดูก ประกอบกับผลการศึกษาที่พบว่ายามีคุณสมบัติด้าน proapoptotic และ cytostatic ดังกล่าวข้างต้นและอาจรวมถึง antiangiogenic ด้วย อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยกวนบางอย่างที่รบกวนผลการศึกษาโดยเฉพาะประวัติการใช้ยาที่ส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ตลอดจนประวัติการใช้ยา statins (เนื่องจากมีข้อมูลสนับสนุนถึงผลดีในการป้องกันมะเร็งเยื่อบุมดลูก) เป็นต้น
.อ้างอิงจาก:
(1) Newcomb PA, Passarelli MN, Phipps AI, Anderson GL, Wactawski-Wende J, Ho GY, et al. Oral bisphosphonate use and risk of postmenopausal endometrial cancer. J Clin Oncol 2015;33:1186-90; (2) Tomao F, Colombo N, Panici B. Is endometrial cancer risk reduced by oral bisphosphonate use? J Clin Oncol 2015;33:3670; (3) Rennert G, Rennert HS, Pinchev M, Lavie O. The effect of bisphosphonates on the risk of endometrial and ovarian malignancies. Gynecol Oncol 2014;133:309-13.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
bisphosphonate
osteoporosis
osteoclast
Paget's disease
metastasis
metastatic and osteolytic bone disease
hypercalcemia of malignancy
etidronate
clodronate
tiludronate
pamidronate
alendronate
ibandronate
risedronate
zoledronate
olpa