Lenvatinib…รักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2558 -- อ่านแล้ว 14,125 ครั้ง
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์เกิดได้ทั้งต่อมซ้ายและต่อมขวา ตลอดจนเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อมทั้งสอง เป็นโรคมะเร็งที่พบไม่บ่อย แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ differentiated thyroid cancer ซึ่งเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถจับ radioactive iodine ได้ แบ่งเป็นชนิดย่อย ได้แก่ papillary cell cancer (พบมากที่สุด) และ follicular cancer และชนิด poorly differentiated thyroid cancer แบ่งเป็นชนิดย่อย ได้แก่ medullary cell cancer และ anaplastic cancer วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด ส่วนยารักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่จำหน่ายแล้ว เช่น cabozantinib, doxorubicin, sorafenib, vandetanib
Lenvatinib ในรูปเกลือ mesylate เป็นยารักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เพิ่งได้รับอนุมัติให้วางจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ ยานี้ออกฤทธิ์เป็น receptor tyrosine kinase (RTK) inhibitor เช่นเดียวกับยาบางตัวที่กล่าวข้างต้น สามารถยับยั้ง kinase ของ vascular endothelial growth factor (VEGF) receptor ต่างๆ ได้แก่ VEGFR1 (FLT1), VEGFR2 (KDR) และ VEGFR3 (FLT4) และยังยับยั้ง RTKs อื่นๆ ได้ด้วย lenvatinib มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด differentiated thyroid cancer ที่กลับเป็นซ้ำที่เดิมหรือแพร่กระจายซึ่งก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย radioactive iodine (locally recurrent or metastatic, progressive, radioactive iodine-refractory differentiated thyroid cancer) ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาแคปซูลขนาดความแรง 4 และ 10 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 24 มิลลิกรัม (ชนิด 10 มิลลิกรัม 2 แคปซูล และ 4 มิลลิกรัม 1 แคปซูล) วันละ 1 ครั้ง อาจรับประทานพร้อมหรือไม่พร้อมกับอาหารก็ได้ ควรรรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน หากลืมรับประทานให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าลืมเกิน 12 ชั่วโมงให้ข้ามขนาดยานั้นไปแล้วรับประทานขนาดถัดไปในเวลาเดิม รับประทานยาติดต่อกันทุกวันไปเรื่อยๆ จนเห็นว่ายาใช้ไม่ได้ผลคือโรคเป็นมากขึ้น หรือทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้
การที่ยานี้ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุน เป็นการศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trial ในผู้ป่วย 392 คน ทีเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด differentiated thyroid cancer ที่กลับเป็นซ้ำที่เดิมหรือแพร่กระจาย ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย radioactive iodine และก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้น มีลักษณะดังกล่าวภายใน 12 เดือนก่อนการศึกษา แบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มที่ได้รับ lenvatinib รับประทานวันละ 24 มิลลิกรัม (261 คน) รอบละ 28 วัน (28-day cycle) หรือได้รับยาหลอก (131 คน) รับประทานยาไปเรื่อยๆ จนเห็นว่ายาใช้ไม่ได้ผล ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ lenvatinib มีระยะเวลาที่โรคสงบ 18.3 (ค่ากลาง) เดือนเทียบกับ 3.6 เดือนในกลุ่มยาหลอก นอกจากนี้ 65% ของผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับ lenvatinib มีก้อนมะเร็งลดลง ในขณะที่กลุ่มยาหลอกมีเพียง 2% ของผู้ป่วย ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ของ lenvatinib ที่พบ เช่น ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย ท้องเดิน ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ พบโปรตีนในปัสสาวะ
อ้างอิงจาก
(1) Lenvatinib. http://www.rxlist.com/lenvima-drug.htm; (2) National Cancer Institute (US). Thyroid cancer. http://www.cancer.gov/cancertopics/types/thyroid; (3) Lenvima (lenvatinib). https://www.centerwatch.com/drug-information/fda-approved-drugs/drug/100069/lenvima-lenvatinib; (4) Schlumberger M, Tahara M, Wirth LJ, Robinson B, Brose MS, Elisei R, et al. Lenvatinib versus placebo in radioiodine-refractory thyroid cancer. N Engl J Med 2015;372(7):621-30.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
differentiated thyroid cancer
radioactive iodine
papillary cell cancer
follicular cancer
poorly differentiated thyroid cancer
medullary cell cancer
anaplastic cancer
cabozantinib
doxorubicin
lenvatinib
sorafenib
vandetanib
receptor tyrosi