หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Dalbavancin: lipoglycopeptide antibiotic ชนิดฉีดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 4,728 ครั้ง
 

Dalbavancin เป็น semisynthetic glycopeptide antibiotic ที่มีโครงสร้างคล้าย teicoplanin เป็นยาในกลุ่ม glycopeptide antibiotics เช่นเดียวกับ vancomycin และ teicoplanin โดยในโครงสร้างมี lipophilic side-chain จึงจัดอยู่ในกลุ่มย่อย lipoglycopeptides (กลุ่มเดียวกันกับ oritavancin และ telavancin ซึ่ง telavancin ได้วางจำหน่ายแล้วในบางประเทศก่อนหน้านี้) dalbavancin มีค่าครึ่งชีวิตยาวจึงเป็นยาตัวแรกในกลุ่มนี้ที่ใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยานี้ออกฤทธิ์เช่นเดียวกันกับ glycopeptides อื่น คือยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียช่วงที่สร้าง peptidoglycan chain

เป็นที่ทราบกันดีว่า glycopeptide antibiotics มีประโยชน์มากในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียพวก gram-positive cocci ซึ่งมักดื้อยา แม้ว่า vancomycin ซึ่งเป็นยาต้นแบบของ glycopeptide antibiotics จะเป็นยาที่มีบทบาทมากในการรักษาการติดเชื้อ gram-positive bacteria ทั้ง methicillin-sensitive Staphylococcus aureus (MSSA) และ methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) แต่มีเชื้อที่ดื้อยานี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งรวมถึง vancomycin-resistant enterococci (VRE) และ MRSA ด้วยเหตุนี้จึงต้องพัฒนายาใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า dalbavancin ให้ผลยับยั้งแบคทีเรียชนิด gram-positive ส่วนใหญ่ที่ก่อโรคได้ดีกว่า vancomycin และ teicoplanin นอกจากนี้มีการศึกษาในผู้ป่วยหนักที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนังและโครงสร้างผิวหนัง (acute bacterial skin and skin structure infections) เปรียบเทียบการให้ dalbavancin เข้าหลอดเลือดดำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 2 ครั้ง (วันที่ 1 และ วันที่ 8 ของการรักษา ในขนาด 1 กรัม และ 500 มิลลิกรัม ตามลำดับ) เทียบกับการให้ vancomycin ขนาด 1 กรัม (หรือ 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) เข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน แล้วตามด้วยการรับประทาน linezolid 600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง จนครบ 10-14 วัน พบว่า dalbavancin ให้ผลไม่ด้อยไปกว่าการใช้ vancomycin-linezolid

Dalbavancin ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ ในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนังและโครงสร้างผิวหนัง ที่เกิดจากเชื้อที่ไวต่อยา เช่น Staphylococcus aureus (รวมถึง MSSA และ MRSA), Streptococcus pyogenes, Streptococcus agalactiae, Streptococcus anginosus group (ได้แก่ S. anginosus, S. intermedius, S. constellatus) โดยให้ยาเข้าหลอดเลือดดำแบบ intravenous infusion นาน 30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเริ่มด้วย 1 กรัม จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ต่อมาให้อีก 500 มิลลิกรัม อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ท้องเดิน การที่ dalbavancin ใช้ฉีดเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จึงคาดว่าจะมีบทบาทสำหรับผู้ป่วยนอก (outpatient ) เพื่อรักษาการติดเชื้อรุนแรงที่เกิดจาก gram-positive cocci ที่ดื้อยาอื่น

อ้างอิงจาก:

(1) Boucher HW, Wilcox M, Talbot GH, Puttagunta S, Das AF, Dunne MW. Once-weekly dalbavancin versus daily conventional therapy for skin infection. N Engl J Med 2014;370:2169-79; (2) Dalbavancin for injection for treatment of acute bacterial skin and skin structure infections (NDA 021-883). Briefing document, Presented to the FDA Anti-Infective Drugs Advisory Committee, 31 March 2014; (3) Dalbavancin. http://www.rxlist.com/dalvance-drug.htm

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
dalbavancin semisynthetic glycopeptide antibiotic glycopeptide antibiotic vancomycin teicoplanin lipophilic side-chain lipoglycopeptide oritavancin telavancin peptidoglycan chain gram-positive cocci gram-positive bacteria methicillin-sen
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้