หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Amiodarone กับข้อแนะนำเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับพิษต่อปอดจากยา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 18,097 ครั้ง
 
Amiodarone เป็นยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (antiarrhythmic drug, class III) ไม่ว่าจะเกิดกับหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง เป็นที่ทราบกันดีว่ายานี้ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อปอด (amiodarone-induced pulmonary toxicity) เช่น hypersensitivity pneumonitis, interstitial/alveolar pneumonitis และเกิด pulmonary fibrosis ในระยะต่อมาได้ จึงใช้เฉพาะในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงที่คุกคามชีวิต (life-threatening arrhythmias) อันตรายต่อตับจากยานี้พบได้บ่อยเช่นกันแต่มักเกิดระดับอ่อน มีเพียงบางรายที่เกิดอันตรายต่อตับแบบรุนแรงและเสียชีวิต นอกจากนี้ยายังรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ ความเป็นพิษต่อปอดของ amiodarone มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 5% ของผู้ที่ใช้ยา ส่วนใหญ่เกิดแบบเรื้อรัง มีเป็นส่วนน้อยที่เกิด respiratory distress syndrome อย่างเฉียบพลัน เช่น ผู้ป่วยที่เพิ่งรับการทำหัตถการเกี่ยวกับปอด เช่น การฉีดสีเข้าหลอดเลือดปอดเพื่อการตรวจวินิจฉัย (pulmonary angiography) หรือผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดปอด ในกรณีที่เกิดอย่างเฉียบพลันนั้นมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากถึง 50% ส่วนความเป็นพิษต่อปอดแบบเรื้อรังพบได้บ่อยและมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงถึง 10% สำหรับระยะเวลาในการเกิด pulmonary fibrosis นั้นบางรายเกิดหลังจากใช้ยาเพียงสัปดาห์เดียวในขณะที่บางรายเกิดหลังจากใช้ต่อเนื่องหลายปี ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความเป็นพิษต่อปอดจาก amiodarone ได้แก่ การใช้ยาต่อวันในขนาดสูง (สูงกว่า 400 มิลลิกรัม/วัน) การใช้ยานาน (เกิน 2 เดือน) ผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) ผู้ที่มีโรคปอดอยู่ก่อนแล้ว และผู้ป่วยเพศชายเกิดได้มากกว่าเพศหญิง

จากข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษต่อปอดของ amiodarone ดังกล่าวข้างต้นนั้น ความรวดเร็วในการรับรู้ถึงการเกิดความเป็นพิษต่อปอดจึงมีความสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้การวางแนวทางเพื่อรับมือหรือจัดการกับความเป็นพิษต่อปอดด้วยความรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านยาให้ความสำคัญ เช่น องค์กร MedSafe ของประเทศนิวซีแลนด์ได้เสนอข้อแนะนำเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการรับรู้และการจัดการกับความเป็นพิษต่อปอดจากยา เช่น

• ควรติดตามเพื่อเฝ้าระวังความเป็นพิษต่อปอดรวมถึงอาการไม่พึงประสงค์อื่นในผู้ป่วยทุกรายที่ใช้ amiodarone

• ควรตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นพิษต่อปอดในผู้ป่วยทุกรายในระหว่างที่ใช้ amiodarone แล้วเกิดอาการทางปอดขึ้นหรืออาการทางปอดที่เป็นอยู่แย่ลงกว่าเดิม

• ควรทดสอบสมรรถภาพปอด รวมถึงการตรวจความจุการซึมซ่านคาร์บอนมอน็อกไซด์ (diffusing capacity for carbon monoxide; DLCO) ในผู้ป่วยที่ไอหรือหายใจลำบากโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่มีผลเอ็กซเรย์ปอดแสดงลักษณะผิดปกติ และผู้ที่แสดงอาการของการเกิดความเป็นพิษต่อปอด

• ควรหยุดใช้ amiodarone ทุกรายหากสงสัยว่าเกิดความเป็นพิษต่อปอด

• ในการหยุด corticosteroids ที่ใช้รักษาความเป็นพิษต่อปอดจาก amiodarone นั้น (แม้ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุนประสิทธิผลของยา) ต้องค่อยๆ ลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลา 2-6 เดือน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่อีก (rebound pulmonary toxicity) และ amiodarone มีค่าครึ่งชีวิตนานจึงใช้เวลารักษานานกว่าอาการจะทุเลา

อ้างอิงจาก:

(1) Medsafe. Amiodarone pulmonary toxicity − early recognition is vital. Prescriber Update 2013;34:38-9; (2) Hudzik B, Polonski L. Amiodarone-induced pulmonary toxicity. Can Med Assoc J 2012; 184(15):E819. DOI:10.1503/cmaj.111763

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
amiodarone antiarrhythmic drug class III amiodarone-induced pulmonary toxicity hypersensitivity pneumonitis interstitial/alveolar pneumonitis pulmonary fibrosis life-threatening arrhythmia respiratory distress syndrome pulmonary angiography
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้