ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้สูบกัญชาประมาณ 17.4 ล้านคน ซึ่งประมาณ 4.6 ล้านคนสูบเป็นประจำทุกวัน การศึกษาระบาดวิทยาที่ผ่านมาพบว่าในผู้ที่สูบกัญชามีความชุกของโรคอ้วน และโรคเบาหวานต่ำกว่าคนที่ไม่เคยสูบกัญชา แสดงให้เห็นว่าสาร cannabinoid ที่พบในกัญชาอาจมีความสัมพันธ์กับระบบการเผาพลาญของร่างกาย
Ms. Penner และคณะ ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของการสูบกัญชากับระดับน้ำตาลในเลือด ในอาสาสมัคร 4657 ราย โดยให้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ยา พบว่า 579 ราย สูบกัญชาในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา 1975 ราย เคยสูบกัญชามาก่อน แต่ในปัจจุบันเลิกแล้ว และ 2103 ราย ไม่เคยสูบกัญชาเลย จากนั้นทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหาร 9 ชั่วโมง และประเมินภาวะต้านอินซูลินด้วย HOMA-IR (homeostasis model assessment of insulin resistance) ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่สูบกัญชาในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยสูบกัญชา ร้อยละ 16 นอกจากนั้นยังมีค่า HOMA-IR ต่ำกว่าร้อยละ 17 ระดับคอเลสเตอรอล HDL สูงกว่า 1.63 mg/dL และมีรอบเอวเล็กกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งก่อนและหลังการปรับค่าพหุตัวแปร (Multivariate adjustment) รวมถึงตัดข้อมูลที่ได้จากอาสาสมัครที่เป็นโรคเบาหวานออกไป ส่วนกลุ่มที่เคยสูบกัญชาแต่เลิกแล้ว ไม่พบว่ามีการลดลงของระดับน้ำตาลเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยสูบกัญชา จึงสันนิษฐานได้ว่าผลของกัญชาที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือดจะมีผลเฉพาะช่วงที่ใช้กัญชาอยู่เท่านั้น
ข้อสังเกต:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเบื้องต้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ของกัญชาต่อน้ำตาลในเลือด
ผลการศึกษาที่ได้ยังไม่สามารถใช้ในการยืนยันฤทธิ์ดังกล่าวได้ และยังมีสิ่งที่ไม่ชัดเจนได้แก่ รูปแบบของกัญชาที่ใช้ ปริมาณและขนาดของสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ รวมไปถึงการไม่ได้ประเมินอาการข้างเคียงหรือผลเสียจากการสูบกัญชาในภาพรวมในระยะยาว อีกทั้งกัญชายังไม่ได้รับการศึกษาด้านฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดที่มากพอที่จะนำไปสู่การรับรองการใช้ในชีวิตจริง
ดังนั้นทางคลังข้อมูลยาไม่แนะนำให้มีการนำกัญชาไปใช้จริงเพื่อข้อบ่งใช้ใดๆ ที่นอกเหนือจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของแต่ละผลิตภัณฑ์