การเกิดภาวะเลือดออกรุนแรงในผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation) ที่ใช้ยา warfarin
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ธันวาคม ปี 2555 -- อ่านแล้ว 5,515 ครั้ง
Gomez และคณะ ทำการศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลา 13 ปี เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับยา warfarin และการเข้ารับการรักษาอาการเลือดออกรุนแรงในสถานพยาบาล ในผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation) ที่มีอายุตั้งแต่ 66 ปีขึ้นไป และมีประวัติเริ่มรับยา warfarin ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. 1997 ถึง เดือนมีนาคม ค.ศ.2008 จำนวน 125,195 ราย พบว่ามีอัตราการเกิดเลือดออกรุนแรงร้อยละ 3.8 ต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าข้อมูลที่ได้จากการทำการศึกษาทางคลินิค (Clinical trials) ในอดีต ระบุเพียงร้อยละ 1 ถึง 3 โดยอัตราการเกิดภาวะดังกล่าวแปรผันตามค่า CHADS2 score (ระดับคะแนนทางคลินิค ที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในคนไข้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากคนไข้มีระดับคะแนนสูงแสดงว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง) และอายุที่สูงขึ้น ภาวะเลือดออกรุนแรงที่พบมากที่สุดในการศึกษานี้คือ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 62 จากจำนวนเหตุการณ์ทั้งหมด
ข้อมูลยังพบอีกว่าลักษณะการเกิดภาวะเลือดออกรุนแรง มักเกิดมากในช่วงแรกของการได้รับยา warfarin โดยมีอัตราการเกิดภาวะเลือดออกรุนแรงคิดเป็นร้อยละ 1 ภายในเวลา 30 วัน ตั้งแต่เริ่มได้รับ warfarin หรือคิดเป็นร้อยละ 11.8 ต่อคนต่อปี หลังจากนั้นเมื่อได้รับยาไปได้ซักระยะหนึ่งคนไข้จะมีแนวโน้มการเกิดภาวะเลือดออกรุนแรงต่ำลง
ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวนคนไข้ทั้งหมดที่เข้ารับการรักษาเนื่องจากภาวะดังกล่าวในสถานพยาบาล พบว่าร้อยละ 20 เสียชีวิตขณะรับการรักษาในสถานพยาบาลหรือหลังจากออกจากสถานพยาบาลได้ไม่นาน เช่น การเกิดภาวะเลือดออกในสมอง ถึงแม้จะพบอัตราการเกิดเพียงร้อยละ 20 ในการศึกษานี้ แต่พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 42