หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไข้หวัดนก H7N9

โดย นศภ. เกียพร สุดธนาพันธ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 30 เมษายน พ.ศ.2557 -- 43,520 views
 

ไข้หวัดนกคืออะไร

ไข้หวัดนกจัดได้ว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อเอเวียนอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Avian Influenza virus) เป็นไวรัสในตระกูลอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza virus) สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B และ C โดยเชื้อไข้หวัดนกนั้นจัดอยู่ในชนิด A เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดนกมีหลายชนิด ซึ่งโดยปกติจะมีการติดต่อระหว่างนกหรือสัตว์ปีกชนิดต่างๆ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Avian Influenza โดยปกติแล้วจะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่ในบางครั้งพบว่ามีการติดต่อมาสู่คนได้ ซึ่งในอดีตประเทศไทยก็เคยได้รับผลกระทบและเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H1N1 และ H5N1 มาแล้ว

ไข้หวัดนก H7N9 คืออะไร

จากที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าไข้หวัดนกนั้นมีสาเหตุมาได้จากเชื้อไวรัสซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดนกที่เป็นที่กล่าวถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 ซึ่งพบว่าเป็นไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดระบาดขึ้นในประเทศจีน ในช่วงปี 2556 และในปัจจุบันก็ยังคงพบผู้ติดเชื้ออยู่ ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกต่อนานาประเทศทั่วโลกเป็นอย่างมาก

สาเหตุของไข้หวัดนก H7N9

เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ชนิด A โดยพบว่าผู้ป่วยมักมีประวัติในการสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์ปีก

อาการที่สำคัญ

โดยมากพบว่าผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนกชนิด H7N9 นั้นมักจะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับโรคไข้หวัดนก ได้แก่ ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องร่วง อาเจียน มีน้ำมูกไอและเจ็บคอ และอาจพบ เลือดกำเดา หรือมีเลือดออกตามไรฟัน หากมีอาการแทรกซ้อนอาจมีอาการรุนแรงถึงปอดบวมและเกิดระบบหายใจล้มเหลว (Acute Respiratory Distress Syndrome) ได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ

การป้องกัน

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกการติดเชื้อ ดังนั้นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้นได้ จะเป็นวิธีที่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อไวรัส ได้แก่ ล้างมือก่อนและหลังปรุงอาหาร ล้างมือหลังจากดูแลสัตว์ หรือหลังการดูแลผู้ป่วย สามารถเลือกรับประทานหมูหรือไก่ได้ แต่จะต้องปรุงสุกโดยใช้อุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียสและหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ที่ป่วยหรือป่วยตาย

การรักษา

มีการศึกษาว่ายา Oseltamivir หรือยา Zanamevir สามารถใช้รักษาโรคไข้หวัดนก H7N9 ได้ แต่การรักษาควรเริ่มโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นถ้าหากมีอาการเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ร่วมกับประวัติที่เคยสัมผัสสัตว์ปีกภายใน 7-10 วันที่ผ่านมา หรือมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เป็นไข้หวัดนก หรืออยู่ในชุมชนที่มีการระบาดของไข้หวัดนกให้รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและได้รับยาอย่างทันท่วงที

เอกสารอ้างอิง

1. สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่. รายงานสถานการณ์ปัจจุบันและความคืบหน้า โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A H7N9 ในคน [internet]. 2557 [เข้าถึงเมื่อ 2557 เม.ย. 11]. Available from: http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/news.php?g=1&items=1050

2. Center for Disease Control and Prevention. Avian Flu (H7N9) in China [internet]. 2014 [cited 2014 Apr 11]. Available from: http://www.nc.cdc.gov/travel/notices/watch/avian-flu-h7n9-china.

3. World Health Organization. Human infections with avian influenza A (H7N9) virus [internet]. 2014 [cited 2014 Apr 11]. Available from: http://www.who.int/csr/don/2014_04_16_h7n9/en/


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
H7N9 ไข้หวัดนก Avian Influenza การรักษาไข้หวัดนก อาการไข้หวัดนก การป้องกันไข้หวัดนก oseltamivir
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้