หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แผลในปาก...ปัญหากวนใจกับการเลือกใช้ “ยาป้ายปาก”

โดย นศภ.ณัฐพงศ์ แก้วตา นศภ.พิชชาภา เด่นรัศมีเทพ ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.อัญชลี จินตพัฒนากิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 -- 170,628 views
 

บทนำ

ถ้ากล่าวถึงปัญหาสุขภาพกวนใจที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เชื่อว่าทุกคนต้องเคยประสบปัญหาแผลในปาก ซึ่งสร้างความรำคาญใจและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เนื่องจากช่องปากเป็นอวัยวะที่เราใช้ ทั้งการรับประทาน การพูด หรือแม้แต่การกลืนน้ำลาย เมื่อเกิดแผลในปาก ความเจ็บปวดจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยแผลที่เกิดขึ้นมักพบบริเวณเยื่อบุช่องปาก ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม เหงือกและลิ้น บทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุและประเภทของแผลในปาก ผลิตภัณฑ์ยารักษาแผลในปากที่มีจำหน่ายในท้องตลาด วิธีการใช้ยาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาการไม่พึงประสงค์ รวมถึงประเด็นคำถามที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับแผลในปาก

ประเภท ลักษณะ สาเหตุ และหลักการรักษาแผลในปาก(1,2)

ลักษณะและสาเหตุ รวมทั้งหลักการรักษาการเกิดแผลในปากแต่ละลักษณะ มีรายละเอียดดังนี้

แผลจากการบาดเจ็บภายในช่องปาก สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การกัดกระพุ้งแก้มขณะเคี้ยว หรือแผลจากการทำทันตกรรม แผลที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะเป็นฝ้าขาว อักเสบคล้ายแผลร้อนใน หรืออาจมีเลือดออกเหมือนแผลสด โดยแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บสามารถกลับเป็นซ้ำได้หากยังไม่มีการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น การที่ผู้ป่วยฟันแตกหรือบิ่นที่มีความแหลมคม สามารถบาดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มจนเกิดแผลซ้ำได้ รวมถึงพบในผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอม โดยการรักษาเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถบ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือใช้ยาป้ายปากเพื่อบรรเทาอาการ และหากมีอาการปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด นอกจากนี้แนะนำให้ผู้ป่วยเคี้ยวอาหารอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดการระคายแผล เช่น อาหารเปรี้ยวจัด อาการเผ็ด เป็นต้น

แผลร้อนใน เป็นแผลที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย และแผลดังกล่าวมักเป็นๆ หายๆ สร้างความรำคาญใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดแผลร้อนในยังไม่ชัดเจน ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนใน เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ความเครียด การขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น ลักษณะของแผลร้อนในเป็นแผลตื้นๆ ที่มีการอักเสบ ขอบแผลมีสีแดงและด้านในแผลเป็นสีขาว มีได้หลากหลายขนาด และผู้ป่วยบางรายอาจมีแผลร้อนในได้มากกว่าหนึ่งจุด โดยแผลร้อนในมักเกิดขึ้นบนเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้ม ลิ้ม เหงือก ริมฝีปากด้านใน โดยหากผู้ป่วยเกิดแผลร้อนในสามารถบ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือใช้ยาป้ายปากเพื่อบรรเทาอาการ แนะนำให้ดื่มน้ำบ่อยขึ้น รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้แนะนำให้ใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและขนนุ่มเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแผลในปาก

แผลจากการสัมผัสสารเคมี ซึ่งการสัมผัสกับสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนหรือมีความเข้มข้นสูงภายในช่องปากสามารถทำให้เกิดแผลเปื่อยและการอักเสบได้ แผลชนิดนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้น้ำยาบ้วนปาก โดยหากเกิดแผลจากการสัมผัสสารเคมี แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์

แผลจากการติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดภายในช่องปาก เช่น เชื้อไวรัสเริม สามารถทำให้เกิดแผลเปื่อยภายในช่องปาก รวมถึงสามารถกลับมาเป็นแผลติดเชื้อซ้ำได้ โดยมักพบตุ่มน้ำขึ้นที่เยื่อบุริมฝีปาก เพดานปาก เหงือกและลิ้น สามารถแตกเป็นแผลตื้นได้ ซึ่งแผลลักษณะนี้เป็นข้อห้ามใช้ของยาป้ายปากที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ดังนั้นผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาการติดเชื้อหากมีตุ่มน้ำเกิดขึ้นภายในช่องปาก

แผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการทำเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจทำให้เกิดแผลอักเสบภายในปาก ลักษณะของแผลที่เกิดขึ้นมักมีการอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อนกระจายอยู่ทั่วบริเวณช่องปาก สามารถเพิ่มขนาดได้ อย่างไรก็ตามแผลประเภทนี้ต้องได้รับการติดตามดูแลจากแพทย์ที่ทำการรักษา และเน้นใช้น้ำยากลั้วปากที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือยาชา ซึ่งแผลในลักษณะนี้ไม่สามารถใช้ยาป้ายปากได้ คำแนะนำเบื้องต้นคือ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทุกชนิด ผลไม้เปรี้ยวจัด อาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด เพราะระคายเคืองต่อเยื่อบุในช่องปากและจะทำให้การผลิตน้ำลายลดลง ทำให้เยื่อบุช่องปากแห้งมากขึ้น แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุช่องปากจำพวกอาหารอ่อน เย็น เช่น ไอศกรีม แตงโม วุ้น เต้าฮวยเย็น เป็นต้น

ชนิด รูปแบบ และการเลือกใช้ยารักษาแผลในปากอย่างเหมาะสม(3-6)

ยารักษาแผลในปาก หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “ยาป้ายปาก” จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ใช้ได้เฉพาะกับแผลในช่องปาก โดยผลิตภัณฑ์แต่ละรูปแบบมีลักษณะเนื้อสัมผัสและกลิ่นที่แตกต่างกัน ยารูปแบบเพสต์ (paste) มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้ง ซึ่งมีผงยาที่ไม่ละลายผสมอยู่ด้วยประมาณร้อยละ 20-50 จึงมีเนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างสาก ส่วนยารูปแบบเจล มีลักษณะเป็นเจลขุ่นหรือใสที่มีตัวยาละลายอยู่ โดยจะมีเนื้อสัมผัสที่เนียนละเอียดกว่าเพสต์ รูปแบบยาป้ายปากที่มีขายในท้องตลาดสามารถแบ่งกลุ่มตามตัวยาสำคัญได้ ดังนี้

กลุ่มยา

ตัวยาสำคัญ

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

สเตียรอยด์

Triamcinolone acetonide 0.1%

Kenalog, Trinolone, Kanolone, Lonna gel, Viomint, Oracortia, Kena-lite, T-ora paste

ยาชา

Lidocaine hydrochloride 2%

Kamistad N

Polidocanol 1%

Solcoseryl dental adhesive paste*

สารสกัดจากสมุนไพร

สารสกัดจากดอกมะลิ ชะเอมเทศ ตรีผลาและฮอกวีด

Himalaya hiora-S

สารสกัดจากเกล็ดสะระแหน่และน้ำมันสะระแหน่

Khaolaor mouth gel

ยาลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

Choline salicylate

Bongela

*มี protein-free haemodialysate (5%) เป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งมีฤทธิ์ช่วยปกป้องแผลและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ

แม้ยาป้ายปากแต่ละรูปแบบจะมีส่วนประกอบของตัวยาที่แตกต่างกัน แต่ทุกรูปแบบมีข้อบ่งใช้ที่เหมือนกัน คือ เพื่อรักษาและบรรเทาอาการเบื้องต้น โดยการเลือกใช้ยาป้ายปากจะขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลและความรุนแรงของอาการ

  • สเตียรอยด์ ออกฤทธิ์เพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบของแผลในปาก ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ยาป้ายปากที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์กับแผลที่มีอาการปวดและอักเสบ เช่น แผลร้อนใน แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ เป็นต้น ทั้งนี้ห้ามใช้กับแผลที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
  • ยาชา ออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่สำหรับบรรเทาอาการปวดเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมักจะเติมส่วนผสมที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบเข้าไปด้วย ดังนั้นยาชาจึงเหมาะกับแผลในปากที่มีอาการปวดเด่น เช่น แผลร้อนใน แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ เป็นต้น และบางผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมที่ช่วยเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้แผลสมานได้เร็วขึ้น
  • สารสกัดจากสมุนไพร มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ อย่างไรก็ตามเหมาะกับแผลในช่องปากที่มีอาการอักเสบเล็กน้อย ไม่มีอาการปวดที่รุนแรง เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์จะใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์
  • ยาลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มักเติมส่วนผสมอื่นๆ เช่น cetalkonium chloride เพื่อเพิ่มฤทธิ์ต้านเชื้อโรค สามารถใช้ได้เหมือนกับยากลุ่มสเตียรอยด์

ยาป้ายปาก ใช้อย่างไร ?(5-8)

การใช้ยาป้ายปากในรูปแบบของเพสต์ ควรป้ายยาลงไปบางๆ บริเวณแผล เนื่องจากยารูปแบบดังกล่าวจะดูดความชื้นแล้วก่อตัวเป็นฟิล์มทำให้ยาสามารถเกาะติดกับแผลได้ หากผู้ป่วยป้ายยาปริมาณเยอะเกินไปจะทำให้ยาเป็นผงร่วน ไม่สามารถเกาะติดกับแผล ส่วนยารูปแบบเจลซึ่งมีเนื้อเนียนละเอียดกว่าเพสต์ แนะนำให้ทาบางๆ เช่นเดียวกับเพสต์ สามารถถูวนได้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์ สำหรับช่วงเวลาทายาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น สเตียรอยด์ ยาลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยากลุ่มสมุนไพร แนะนำให้ป้ายหลังทานอาหารหรือก่อนนอนเพื่อให้ยาอยู่ติดนาน ส่วนยาชาแนะนำให้ป้ายก่อนทานอาหารเพื่อให้ยาออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวด

ข้อควรรู้ในการใช้ยาป้ายปาก(4,7-11)

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ ส่วนมากพบในยากลุ่มสเตียรอยด์ โดยอาจทำให้ คัน ระคายเคืองภายในช่องปาก เกิดรอยแดง ถ้ามีการใช้ยาเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เยื่อบุบริเวณช่องปากบางลง จึงไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 10-14 วัน

สเตียรอยด์…อันตรายหรือไม่ สเตียรอยด์ที่ใช้ในยาป้ายปาก เช่น triamcinolone acetonide จัดอยู่ในกลุ่มความแรงปานกลาง และเนื่องด้วยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาทำให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อยมาก ประกอบกับแผลในปากสามารถหายได้เองภายใน 10-14 วัน ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ยาเพียงระยะสั้น ทำให้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ในรูปแบบอื่น

ขณะใช้ยา กลืนน้ำลายได้หรือไม่ หลายคนอาจมีความกังวลใจว่าขณะใช้ยาป้ายแผลในปากสามารถกลืนน้ำลายได้หรือไม่ จริงๆ แล้วสามารถกลืนน้ำลายได้ และแม้ว่าจะเผลอกลืนยาลงไปด้วยก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนประกอบในยาป้ายปากมีความปลอดภัย สามารถกลืนได้

เก็บรักษาอย่างไร ควรเก็บรักษายาให้พ้นจากความร้อน หลีกเลี่ยงแสงแดดและเก็บให้พ้นมือเด็ก

ข้อแนะนำอื่นๆ กรณีมีแผลเรื้อรังในช่องปาก รักษาไม่หายเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 10-14 วัน) มีฝ้าขาวหรือแดงบริเวณเยื่อบุช่องปาก แผลมีขนาดใหญ่ขึ้น คลำเจอตุ่มหรือก้อน หากสังเกตหรือพบเจออาการเหล่านี้แนะนำให้ไปพบแพทย์

เอกสารอ้างอิง

1. Bilodeau E, Lalla R. Recurrent oral ulceration: Etiology, classification, management, and diagnostic algorithm. J Periodontol 2019; 80(1):49-60.

2. Bernard JH. Mouth Sores and Inflammation [internet]. 2020 [cited 2021 Jun 30]. Available from: https://www.msdmanuals.com/home/mouth-and-dental-disorders/symptoms-of-oral-and-dental-disorders/mouth-sores-and-inflammation.

3. U.S. Pharmacopeial Convention. <1151> Pharmaceutical dosage forms. The United States Pharmacopeia 43 –The National Formulary 38 (USP43-NF38). Maryland: U.S. Pharmacopeial Convention; 2020.

4. วรางคณา ชิดช่วงชัย, ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม. ม.ป.ท.: 2560.

5. MIMS Online Thailand. Triamcinolone acetonide [Internet]. 2021. Available from: https:www.mims.com/thailand/drug/info/triamcinolone%20acetonide?mtype=generic.

6. Kamistad N gel® [package insert]. Germany (NJ): STADA Arzneimittel AG; 2020.

7. Ramadas A, Jose R, Arathy S, Kurup S, Chandy M, Kumar S. Systemic absorption of 0.1% triamcinolone acetonide as topical application in management of oral lichen planus. Indian J Dent Res 2016; 27(3):230-5.

8. Kenalog ® in Orabase (Triamcinolone acetonide dental paste 0.1%) [package insert on the Internet]. Princeton: Bristol-Myers Squibb; 2002 [revised 2012 May; cited 2021Jul 6]. Available from: https://www.nps.org.au/medicine-finder/kenalog-in-orabase-paste.

9. Rowe RC, Sheskey PJ, Quinn ME. Handbook of Pharmaceutical Excipients. 6th Edition. Grayslake: Pharmaceutical Press; 2009.

10.Sankhla B, Sahni P, Nayak M. Aphthous ulcer: A Sourge. Dental Impact 2011; 3(2):31-6.

11.ภรณี ผ่องนพคุณ. แนวทางการดูแลภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบระดับรุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอในช่วงระหว่างได้รับการรักษาด้วยเคมีบําบัดร่วมกับรังสีรักษา. วารสารสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย 2556;19(1):47-52.

 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้