หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลิตภัณฑ์กันแดดปกป้องผิวอย่างไร?

โดย นศภ.ชุติมณฑน์ อุดมเกียรติกูล เผยแพร่ตั้งแต่ 20 มกราคม พ.ศ.2558 -- 93,267 views
 

แสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่ตกถึงผิวโลกประกอบด้วยรังสีหลายชนิด แต่รังสีที่มีผลต่อผิวหนังค่อนข้างมากและชัดเจนคือ รังสี UV ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามช่วงความยาวคลื่น ได้แก่ รังสี UV-A (ความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 320–400 nm) และ UV-B (มีช่วงความยาวคลื่น 290–320 nm) รังสี UV มีผลต่อผิวหนังทั้งในแง่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น กระตุ้นการสร้างวิตามินดีและกระตุ้นการสร้างเม็ดสีที่ผิวเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด แต่รังสี UV ก็ก่อให้เกิดโทษได้เช่นกัน โดยรังสี UV-A สามารถทะลุผ่านผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเส้นใยอิลาสติก ทำให้เซลล์ผิวเกิดภาวะแก่ก่อนวัย ส่วนรังสี UV-B เมื่อได้รับเป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังบวมแดง พองและลอกออก เกิดอาการไหม้แดด (sunburn) และเมื่อได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง ก็อาจพัฒนาให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทาผิวก่อนออกแดด เป็นวิธีการหนึ่งในการปกป้องผิวจากรังสี UV แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กันแดดจำนวนมากและหลากหลาย ดังนั้นหากผู้บริโภคมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กันแดด จะทำให้สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องผิวจากรังสี UV

สารที่ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV ในผลิตภัณฑ์กันแดด

ในผลิตภัณฑ์กันแดดประกอบด้วยสารที่ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV ซึ่งสารดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV ได้ดังนี้

1. กลุ่มสารที่ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV โดยการดูดซับรังสี สารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวหนังแล้วดูดกลืนรังสี UV ไว้ ทำให้รังสี UV ไม่สามารถทะลุผ่านเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนัง หลังจากนั้นจึงค่อยๆ คายพลังงานออกมาในรูปรังสีที่ไม่เป็นอันตราย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสารดูดซับรังสี UV-A เช่น แอนทรานิเลต (anthranilate) เบนโซฟีโนน (benzophenone) เป็นต้น และ กลุ่มสารดูดซับรังสี UV-B เช่น ซินนาเมต (cinnamate) ซาลิไซเลต (salicylate) เป็นต้น สารกลุ่มนี้มีจุดเด่นในเรื่องความสามารถในการป้องกันรังสี UV ได้ดี เพราะสามารถดูดกลืนรังสีไว้ได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่มีสารในกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดการแพ้ต่อผิวได้ มากกว่าสารกันแดดที่ป้องกันรังสี UV โดยการสะท้อนรังสี เนื่องจากลักษณะโครงสร้างของสารกลุ่มนี้ ทำให้สารบางส่วนสามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังและเกิดอาการแพ้ได้

2. กลุ่มสารที่ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV โดยการสะท้อนรังสี สารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวหนังแล้วทำการสะท้อนหรือกระจายรังสี UV เสมือนเป็นร่มให้กับผิวหนัง จึงสามารถป้องกันรังสี UV ได้ ตัวอย่างของสารกลุ่มนี้ได้แก่ ซิงก์ออกไซด์ (zinc oxide) ไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) และ แมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide) เป็นต้น เนื่องจากสารกลุ่มนี้ไม่ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังจึงมีความปลอดภัยสูงกว่ากลุ่มแรกและมีโอกาสเกิดการแพ้ได้น้อย แต่มีข้อด้อยคือ สารกลุ่มนี้มีขนาดอนุภาคที่ค่อนข้างใหญ่ เมื่อทาที่ผิว จะเกิดการสะท้อนแสง ทำให้เกิดปื้นขาวบริเวณที่ทาและแลดูไม่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีส่วนผสมของสารกลุ่มนี้มักนิยมใช้สารที่มีอนุภาคขนาดเล็ก หรือที่รู้จักกันว่า micronized form (มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1 - 100 ไมครอน) เมื่อทาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงไม่เกิดเป็นปื้นขาวและสามารถกระจายตัวบนผิวได้ง่าย นอกจากนี้การมีอนุภาคขนาดเล็กยังช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการสะท้อนหรือกระจายรังสี UV ได้อีกด้วย

ค่า SPF และ PFA

ผลิตภัณฑ์กันแดดแต่ละตัว จะมีความสามารถในการป้องกันแดดได้แตกต่างกัน จึงได้มีการกำหนดค่าชี้วัดประสิทธิภาพในการป้องกันแดดที่สำคัญและเป็นมาตรฐานสากลไว้ 2 ชนิด ได้แก่ SPF และ PFA

SPF (sun protection factor) คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-B โดยใช้ตัวเลข แสดงระดับของประสิทธิภาพและความสามารถในการดูดซับรังสี UV-B ดังแสดงในตารางข้างล่าง แต่อย่างไรก็ตามค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-B ได้ไม่แตกต่างกัน

PFA (protection factor of UV-A) คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-A โดยสัญลักษณ์ในการแสดงระดับของประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-A ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละประเทศ ดังแสดงในตาราง

ค่า SPF

ค่าดูดซับรังสี
UV-B (%)

ค่า PFA

UV-A rating

ความหมาย

Japanese

US

2-15

50-93

2 - < 4

PA +

*

ป้องกัน UV-A ต่ำ

15-30

93-96

4 - < 8

PA ++

**

ป้องกัน UV-A ปานกลาง

30-50

96-98

> 8

PA +++

***

ป้องกัน UV-A สู

หมายเหตุ ค่า PFA < 2 = ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน UV-A

ผลิตภัณฑ์กันแดดบางชนิด ระบุคุณลักษณะพิเศษในการกันน้ำ (water resistance) เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ผลิตภัณฑ์กันแดดประเภทนี้ยังคงสภาพ SPF ตามที่กำหนดเมื่อทาผลิตภัณฑ์แล้วมีการแช่น้ำ ซึ่งความ
สามารถในการกันน้ำ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. Water resistance product คือ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 40 นาที
2. Very water resistance product คือ ผลิตภัณฑ์ที่ยังคงสามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 80 นาที

รูปแบบผลิตภัณฑ์กันแดด

ผลิตภัณฑ์กันแดดในท้องตลาด มีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้กัน ดังต่อไปนี้

1. รูปแบบอิมัลชัน ได้แก่ ครีม โลชัน เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด มีความหนืดที่แตกต่างกันไป ข้อดีของรูปแบบนี้คือ มีความสามารถในการกระจายตัวบนผิวได้ดี รวมทั้งมีความสามารถในการเคลือบและยึดติดผิวได้ดี แต่ข้อเสียของผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้คือ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบอื่น รูปแบบอิมัลชันจะทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกเหนอะหนะได้มากกว่า แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบอิมัลชันที่มีความเหนอะหนะน้อยวางจำหน่าย ในท้องตลาดเช่นกัน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค

2. รูปแบบเจล เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นในเรื่องความสวยงามของเนื้อผลิตภัณฑ์ ใส และน่าใช้ แต่ข้อด้อยที่มักพบคือ มักมีราคาแพง ฟิล์มที่เกิดจากเจลสามารถถูกชะออกโดยน้ำหรือเหงื่อได้ง่าย ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการกันแดดไป

3. รูปแบบแอโรซอล เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดพ่นหรือสเปรย์ มีข้อดีคือ ใช้กับผิวหนังบริเวณกว้างได้ง่าย แต่ข้อเสียที่พบได้คือ มักเกิดฟิล์มที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UV ลดลง

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด

จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์กันแดด ที่จำหน่ายในท้องตลาด มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ทั้งความสามารถในการป้องกันรังสี UV และรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น

ความสามารถในการป้องกันรังสี UV: หากต้องการผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันอันตรายต่อผิวและการเกิดผิวคล้ำเสียจากแสงแดด ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งค่า SPF และ PFA กล่าวคือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UV-B และ UV-A แต่หากต้องการอาบแดด เพื่อทำให้สีผิวเป็นสีแทน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันเฉพาะรังสี UV-B จะช่วยป้องกันอาการไหม้แดด แต่ไม่ป้องกันรังสี UV-A (ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า PFA น้อยๆ) จึงทำให้รังสี UV-A ผ่านผิวหนังและกระตุ้นการสร้างเมลานินได้ โดยคุณสมบัติดังกล่าวสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดผิวสีแทน (sun-tanning products)

รูปแบบของผลิตภัณฑ์: ตัวอย่างเช่น ไม่ควรเลือกรูปแบบเจลหาก ต้องไปทำกิจกรรมทางน้ำ เนื่องจากน้ำสามารถชะฟิล์มที่เกิดจากเจลออกไปจากผิวได้ง่าย ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการกันแดด หากต้องการทาผิวเป็นบริเวณกว้างเช่น ลำตัว แขน ขา อาจพิจารณาเลือกรูปแบบอิมัลชัน เนื่องจากเป็นรูปแบบที่กระจายตัวบนผิวได้ดี ทนต่อการชะล้างของเหงื่อได้ดีมากกว่ารูปแบบเจล และมีความสามารถในการเคลือบและยึดติดผิวได้ดี

อายุ: ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนไมควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย อาจใช้วิธีการอื่นในการป้องกันแสงแดด เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดในช่วงเวลา 11.00 – 15.00 น.เพราะแสงแดดในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีรังสี UV สูงมาก ควรใส่หมวก เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว เมื่ออยู่กลางแจ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง เป็นต้น หากเด็กอายุมากกวา 6 เดือน อาจลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไททาเนียมไดออกไซด์ซึ่งจะเคลือบอยู่ที่ผิว และมีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้น้อย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเด็กควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแอลกอฮอล

กิจกรรมที่ทำ: ในแต่ละกิจกรรมที่ทำมีการสัมผัสกับรังสี UV ในปริมาณที่แตกต่างกัน การเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ที่เพียงพอต่อการปกป้องผิว จึงเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างของการเลือกค่า SPF ให้เหมาะสมกับกิจกรรมได้แก่ เลือกค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป สำหรับการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมที่อยู่แต่ภายในอาคาร ส่วนค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหากเป็นการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางน้ำ ก็เหมาะสำหรับการใช้ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และมีความสามารถในการกันน้ำ

วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด

ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์กันแดดให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV มากยิ่งขึ้น แต่วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกวิธีจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์กันแดดสามารถป้องกันรังสี UV ได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ได้อย่างปลอดภัยด้วยเช่นกัน ข้อปฏิบัติในการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดมีดังนี้
1. ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน แต่หากต้องการให้ได้ผลในการป้องกันผิวจากแสงแดดมากที่สุด แนะนำให้ทาผลิตภัณฑ์กันแดดทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่มีเหงื่อออก หรือหลังจากว่ายน้ำ หรือเช็ดตัว
2. ควรทาให้เป็นฟิล์มสม่ำเสมอและปกคลุมทั่วผิว แต่ไม่ต้องถูนวด
3. ทาผลิตภัณฑ์กันแดดในปริมาณที่เหมาะสมกับบริเวณของร่างกายที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น จมูก ใบหู โหนกแก้ม เป็นบริเวณที่สัมผัสแสงแดดได้มากกว่าบริเวณอื่น จึงอาจต้องทาผลิตภัณฑ์กันแดด ปริมาณมากกว่าบริเวณอื่น เป็นต้น
4. หลีกเลี่ยงบริเวณรอบดวงตาหรือเนื้อเยื่ออ่อน เพราะอาจเกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ง่าย
5. ควรทาก่อนออกแดดประมาณ 20 – 30 นาที เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลาในการจัดเรียงตัวและ
ปกคลุมผิวหนัง

นอกจากผลิตภัณฑ์กันแดดดังที่กล่าวมาในข้างต้น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแสงแดดที่สำคัญอีกอย่าง คือผลิตภัณฑ์ใช้ภายหลังสัมผัสแสงแดด (after-sun product) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายหลังการสัมผัสแดด แล้วเกิดอาการอักเสบ ผลิตภัณฑ์ after-sun จะทำหน้าที่ลดการอักเสบ ลดการแพ้หรือผิวแห้งหลุดลอกเนื่องจากแสงแดด

เอกสารอ้างอิง

1. งานกำหนดมาตรฐาน กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด (สำหรับประชาชน).กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ; 2555.

2. Marionnet C, Pierrard C, Golebiewski C, Bernerd F. Diversity of biological effects induced by longwave UVA rays (UVA1) in reconstructed skin. PLoS One 2014; 9(8): e105263. doi:10.1371
/journal.pone.0105263.

3. พิมพร ลีลาพรพิสิฐ. เครื่องสำอางสำหรับผิวหนัง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์; 2551.

4. อรัญยา มโนสร้อย,จีรเดช มโนสร้อย. เวชสำอาง. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2554.

5. ฐานิสร โรจนดิลก. ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดด. ใน: มัณฑนา ภาณุมาภรณ์, ฤดี เสาวคนธ์, บรรณาธิการ. ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิวพรรณ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กรุงเทพเวชสาร; 2548.หน้า 101-9.

6. Therapeutic Goods Administration (AU). Literature review on the safety of titanium dioxide and zinc oxide nanoparticles in sunscreens [Internet]. Canberra: 2013 [cited 2014 Dec 11]. Available from: http://www.plosone.org/article/info%3Adoi%2F10.1371%2Fjournal.pone.0105263.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ผลิตภัณฑ์กันแดด รังสี UV SPF PFA
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้