หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ท้องเสียเฉียบพลัน จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะหรือไม่ ?

โดย นศภ. ณัชชา อรัชพร เผยแพร่ตั้งแต่ 22 เมษายน พ.ศ.2557 -- 153,056 views
 

ท้องเสียเฉียบพลัน คืออะไร?

ท้องเสียเฉียบพลัน คือภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำอย่างน้อย3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง (หรือถ่ายบ่อยกว่าปกติ) หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมงโดยจะมีอาการดังกล่าวไม่เกิน 14 วัน

ท้องเสียเฉียบพลันสามารถแบ่งตามอาการนำเด่นได้ดังนี้

1. กลุ่มที่มีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่นได้แก่

- อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้น ซึ่งเป็นสารพิษ

ที่ทนต่อความร้อนจึงพบได้แม้ในอาหารที่ปรุงสุกแล้ว มักมีอาการหลังรับประทานอาหาร 6-24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นอาหารที่ทิ้งไว้นานแล้วโดยจะเริ่มด้วยอาการอาเจียนรุนแรง ตามด้วยท้องเสียแต่ไม่รุนแรง อาการดังกล่าวสามารถหายได้เองใน 1-2วัน กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เนื่องจากไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเชื้อ

- ท้องเสียจากเชื้อไวรัส มักพบในเด็กโดยจะมีอาการของหวัดนำมาก่อน ต่อมาจะอาเจียน ตามด้วย

ท้องเสียไม่มีเลือดปน อาการดังกล่าวมักหายได้เองใน 3-4 วัน กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เนื่องจากมีสาเหตุมากจากเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

2. กลุ่มที่มีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ได้แก่

- กลุ่มที่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก อาจเป็นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำซาว

ข้าว มักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสารพิษได้ กรณีนี้ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

- กลุ่มที่ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด ให้สังเกตอาการของบิด

กรณีมีอาการของบิด (รู้สึกปวดเบ่งที่ทวารหนัก แต่ถ่ายไม่สุด)

- บิดไม่มีตัว จะมีไข้ร่วมด้วย ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น norfloxacin

- บิดมีตัว จะไม่มีไข้ร่วมด้วย ควรได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องก่อนการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

กรณีไม่มีอาการของบิด โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยกเว้นผู้ป่วยบางกลุ่ม

เช่น สูงอายุ, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

3. อื่นๆเช่น ท้องเสียในนักเดินทาง

“ท้องเสีย”เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อหรือสารพิษ โดยกำจัดออกทางอุจจาระและการอาเจียน ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุดคือให้ร่างกายขับเชื้อหรือสารพิษออกมาจนหมด ยกเว้นกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และไม่ควรใช้ยาหยุดถ่าย เนื่องจากจะทำให้เชื้อหรือสารพิษเหลือค้างอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงได้แต่ควรรักษาตามอาการ เช่น ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป

อันตรายที่เกิดจากท้องเสียเฉียบพลัน

หากมีอาการท้องเสียเฉียบพลัน จะทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับการอาเจียนและอุจจาระ หากมีการสูญเสียปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำขึ้น ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็ก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องประเมินภาวะขาดน้ำ อาการที่บ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ เช่น ปากคอแห้ง กระหายน้ำ ผิวหนังแห้ง (หากดึงหนังขึ้นจะไม่คืนตัวทันที) หรืออาจทดสอบโดยการกดเล็บ ซึ่งโดยปกติแล้วเล็บจะกลับมาเป็นสีชมพูอีกครั้งภายในเวลา 2 วินาทีแต่หากมีภาวะขาดน้ำจะใช้เวลามากกว่า 2 วินาที เป็นต้น สำหรับเด็กเล็กอาจมีอาการ เช่น ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กระหม่อมบุ๋ม

การรักษาภาวะขาดน้ำ ทำได้โดยการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป โดยทั่วไปจะให้ Oral rehydration salts (ORS) ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ โซเดียมและกลูโคส รับประทานร่วมกับน้ำ ค่อยๆจิบจนหมด โดยจะรับประทานมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ

เอกสารอ้างอิง

1. สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่. 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2546.

2. Guerrant RL, Gilder TV, Steiner TS, Thielman NM, Slutsker L, Tauxe RV. et al. Practice guidelines for the management of infectious diarrhea. CID 2001; 32: 331-51.

3. World Health Organization. The treatment of diarrhoea: a manual for physicians and other senior health workers. Geneva; 2005.

4. Hatchette TF, Farina D. Infectious diarrhea: when to test and when to treat. CMAJ 2011; 183(3): 339-44.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ท้องเสีย ท้องเสียเฉียบพลัน ท้องร่วง ท้องเสียรุนแรง
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้