Loading…

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

ในปัจจุบัน หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตในระดับสากลนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการศึกษาเพิ่มเติมจาก 5 ปี เป็น 6 ปี โดยสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านเภสัชกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการในทักษะที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงปรับปรุงหลักสูตรจาก 5 ปี เป็น 6 ปี โดยมีหน่วยกิตรวมทั้งหมด 220 หน่วยกิต รวมทั้งยังต้องมีชั่วโมงการฝึกงานไม่น้อยกว่า 2,000 ชั่วโมง เพื่อให้ได้มาตรฐานตามสภาเภสัชกรรม โดยหลักสูตรจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ชั้นปีที่ 1-4 เน้นความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมขั้นพื้นฐาน ชั้นปีที่ 5 และ 6 สามารถเลือกเรียนด้านเภสัชอุตสาหการ (การผลิต ตรวจวิเคราะห์ ประกันคุณภาพ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ) และด้านบริบาลทางเภสัชกรรม (การดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ร้านขายยา งานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 จะได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงานวิชาชีพในแหล่งฝึกงาน เพื่อสร้างเสริมความมั่นใจในการพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษา โดยหลักสูตรใหม่นี้ นักศึกษาจะมีองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ในขั้นพื้นฐานรวมถึงองค์ความรู้และทักษะในด้านที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นทางเภสัชกรรมหรือทางอุตสาหกรรม บุคลากรที่จบจากหลักสูตรนี้ก็จะร่วมกันพัฒนาวงการเภสัชกรรมและเภสัชศาสตร์ของประเทศไทยต่อไป

“ จัดการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนโดยใช้การเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างเสริมความรู้ ความสามารถและทักษะใหม่ทางวิชาชีพเภสัชกรรมได้ด้วยตนเอง ร่วมกับมีการฝึกประสบการณ์และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ” -- ปรัชญาการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ลักษณะการศึกษา

ระบบการศึกษาของคณะเภสชัศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ใน 1 ปีการศึกษา ประกอบไปด้วย 2 เทอม ซึ่งสอดคล้องตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดไว้สำหรับผู้เรียนในระดับก่อนบัณฑิตศึกษา และระดับบัณฑิตศึกษา โดยนักศึกษาต้องเข้าเรียนในรูปแบบของนักศึกษาเต็มเวลาตามข้อกำหนดมาตรฐานแห่งชาติสำหรับบัณฑิตศึกษาในปี พ.ศ. 2548 โดยกระทรวงศึกษาธิการ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะทางด้านเภสัชศาสตร์ตามเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยบัณฑิตเภสัชศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. มีความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้านเภสัชศาสตร์ ศาสตร์ทางด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ ศาสตร์ทางด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม และศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น และสามารถใช้ความรู้เหล่านี้เพื่อการปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมในบทบาทที่หลากหลาย
  2. ใช้ความรู้ในการเป็นเภสัชกรที่มีความสามารถในการตั้งตำรับ ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ชีววัตถุ และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ รวมไปถึงการควบคุมและประกันคุณภาพเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
  3. ใช้ความรู้ในการเป็นเภสัชกรที่มีความสามารถในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรม ตั้งแต่การประเมินสภาวะของผู้ป่วยเบื้องต้น การค้นหาปัญหาทางยา การแก้ปัญหาทางยา การกำหนดแผนการดูแลผู้ป่วยทางยา การให้คำแนะนำระหว่างการจ่ายยา และการวางระบบยา ให้เกิดการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและพอเพียง รวมถึงการนำไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาโรคอย่างปลอดภัยและสมเหตุผล และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
  4. ใช้ความรู้ในบทบาทเภสัชกรนักวิจัย เพื่ออธิบาย แก้ปัญหา และพัฒนางานที่รับผิดชอบเพื่อสร้างความรู้ใหม่ด้านยา สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ
  5. มีพฤติกรรมที่มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อวิชาชีพเภสัชกรรม
  6. มีความสามารถและทักษะในการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ชีววัตถุ และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้ป่วยเฉพาะราย และบุคลากรสาธารณสุขอย่างถูกต้อง ทันสมัยและเชื่อถือได้
  7. มีทักษะในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีความรู้และทักษะทางเภสัชศาสตร์ที่ทันสมัย เรียนรู้การจัดการสารสนเทศและแนวคิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในทางเภสัชกรรม และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ในอนาคต

โครงสร้างหลักสูตร

ดาวน์โหลดโครงสร้างหลักสูตร (PDF)

การรับเข้าศึกษา

ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต เป็นผู้สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่า มีคุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะ ตามระเบียบการสอบคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ/หรือ ระเบียบการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยมหิดลระบบรับตรง รวมทั้งตามระเบียบข้อบังคับอื่นๆ ของการรับผู้เข้าศึกษากรณีพิเศษที่ผ่านการอนุมัติของสภามหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว โดยสามารถสมัครเข้าศึกษาได้ผ่าน 3 ระบบ ดังนี้
  1. ระบบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
    นักเรียนที่สนใจจะเป็นเภสัชกรและมีแฟ้มสะสมผลงานเกี่ยวข้องกับด้านเภสัชกรรมหรือเภสัชศาสตร์ รวมทั้งผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดอื่นๆ สามารถสมัครผ่านระบบนี้ได้

  2. ระบบที่ 2 ระบบโควตา (Quota admission)
    นักเรียนที่อยู่ในจังหวัดหรือโรงเรียนตามรายชื่อด้านล่างที่ผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยมหิดลระบบตรง และผ่านระเบียบข้อบังคับอื่นๆ สามารถสมัครผ่านระบบนี้ได้
    • กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี
    • นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์
    • อำนาจเจริญ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร
    • โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  3. ระบบ กสพท. (กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย)
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย นักเรียนที่ผ่านข้อกำหนดของ กสพท. มีสิทธิ์เข้าเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์เช่นกัน

ขั้นตอนการสมัคร

กรุณาตรวจสอบจำนวนนักศึกษาที่รับในแต่ละปีซึ่งจะแตกต่างกันไป โดยสามารถดูรายละเอียดล่าสุดในแต่ละปีได้ที่ https://www.mytcas.com/ และที่ https://tcas.mahidol.ac.th/


สถานที่ศึกษา

  1. ชั้นปีที่ 1
    มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

  2. ชั้นปีที่ 2 เป็นต้นไป
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ

  3. การฝึกงาน
    โรงพยาบาล ศูนย์สาธารณสุข โรงงานเภสัชกรรม ร้านขายยาชุมชน องค์กรอาหารและยา และเครือข่ายของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกมากมาย



ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา