Loading…

คำแนะนำสำหรับว่าที่คุณพ่อ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์

คำแนะนำสำหรับว่าที่คุณพ่อ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ศยามล สุขขา

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5,841 ครั้ง เมื่อ 3 ช.ม.ที่แล้ว
2023-12-27

เมื่อกล่าวถึงการตั้งครรภ์แล้ว ในหลายครั้งเราจะนึกถึงการเตรียมความพร้อมของฝ่ายหญิงสำหรับการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรับรูปแบบทางโภชนาการ การรับประทานวิตามินเสริมบางประเภท หรือการหลีกเลี่ยงยาบางชนิดตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ แต่แท้ที่จริงแล้ว การเตรียมความพร้อมของฝ่ายชายก็มีบทบาทที่สำคัญต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์เช่นกัน บทความนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำแนะนำสำหรับว่าที่คุณพ่อเพื่อส่งเสริมการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่สามารถนำไปปรับและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีได้อีกด้วย

ปัจจัยในเพศชายที่เป็นสาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก1,2 

ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก จากสภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ที่อาจทำให้ความพร้อมของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรนั้นอยู่ในช่วงอายุที่มากขึ้น ในเพศหญิงเมื่อมีอายุที่มากขึ้นย่อมส่งผลต่อจำนวนและคุณภาพของไข่ที่จะปฏิสนธิ และส่งผลต่อการมีบุตรยากได้ ในส่วนของเพศชายนั้นก็พบรายงานปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะการมีบุตรยากเช่นกัน ดังนี้

  • สภาะวะทางจิตใจ จากการศึกษาพบว่าสภาวะทางอารมณ์ หรือภาวะเครียดส่งผลต่อระบบการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ลดการสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ และการสร้างอสุจิ อีกทั้งภาวะเครียดยังทำให้ไวต่อการติดเชื้อ กระบวนการอักเสบ และการสร้างสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำลายอสุจิได้
  • กลุ่มโรคทางกายบางชนิดจะมีผลต่อคุณภาพของอสุจิ เช่นภาวะอ้วน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ เบาหวาน มีการรายงานว่าผู้ชายที่เป็นเบาหวานและควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีจะมีปัญหาของอสุจิในด้านการเคลื่อนไหว ความข้นและจำนวนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี และในผู้ที่เป็นเบาหวานยังพบการรายงานการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย 
  • ยาที่ได้รับจากแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง รวมถึงสมุนไพร และอาหารเสริม โดยกลุ่มยาที่มีรายงานสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยากได้แก่ยาฮอร์โมน (exogenous testosterone ซึ่งจะมีผลลดการสร้างอสุจิ, androgen supplement ซึ่งมีผลในการกดวงจรของ HPG axis ที่ส่งผลต่อฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์) ยาลดความดัน (alpha-blockers สัมพันธ์กับภาวะการหลั่งของน้ำอสุจิไหลย้อนกลับ, spironolactone ซึ่งสัมพันธ์กับการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย androgen) ยาฆ่าเชื้อ (erythromycin, neomycin, tetracycline, nitrofurantoin, gentamicin มีผลทำให้การสร้างอสุจิบกพร่อง) ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบจิตและประสาท (SSRIs, monoamine oxidase inhibitors, lithium, phenothiazines ซึ่งส่งผลลดความต้องการทางเพศ) ยาเคมีบำบัด มีผลต่อการสร้างอสุจิที่บกพร่อง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในผู้ที่ได้รับยาดังกล่าวในการรักษาโรคประจำตัว และมีการวางแผนมีบุตรควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาปรับยา หรือให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร และยังคงควบคุมอาการของโรคได้ดี
  • สารเสพติดจำพวกโคเคน มารีฮัวน่า การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างอสุจิ และส่งผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ 
  • ความผิดปกติของผลตรวจทางห้องปฏิบัติการบางชนิด อาจส่งผลต่อการมีบุตรยากได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เพศชายทำการตรวจผลทางห้องปฏิบัติการตามคำแนะนำในแต่ละช่วงอายุอย่างสม่ำเสมอ เช่นการตรวจไขมันเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี หรือทำการตรวจเร็วขึ้น (อายุ 20-35 ปี) หากมีภาวะเบาหวาน มีประวัติของบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีความเสี่ยงหลายด้านต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาสั่งตรวจผลทางห้องปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับอาการ/อาการแสดงของโรคที่สัมพันธ์กับภาวะการมีบุตรยากเพิ่มเติม เช่น การตรวจฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อค้นหาภาวะไทรอยด์ต่ำ หรือมากเกินไป การตรวจการทำงานของต่อมหมวกไต เพื่อค้นหาภาวะ Addison หรือ Cushing syndrome การตรวจเอนไซม์แสดงการทำงานของตับ หากตรวจร่างกายและเจอตับโต หรือการตรวจระดับฮอร์โมนที่สัมพันธ์ต่อระบบสืบพันธุ์ ได้แก่เทสโทสเตอโรน เอสโตรเจน เอฟเอสเอช (follicle stimulating hormone, FSH) เอลเอช (luteinizing hormone, LH)

การเสริมสร้างสุขภาพในเพศชายเพื่อส่งเสริมโอกาสการมีบุตร1,2

    สำหรับการเสริมสร้างสุขภาพในเพศชายนี้มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรกระทำไม่ว่าจะมีการวางแผนตั้งครรภ์หรือไม่ ตัวอย่างคำแนะนำด้านล่างนี้เกี่ยวข้องกับการดูแลทางโภชนาการ การส่งเสริมการออกกำลังกาย การป้องกันโรค และความเครียด รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาวะที่ดีได้

  • การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากข้อมูลพบว่าหากมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 9 กิโลกรัม จะสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีบุตรยากได้ร้อยละ 10 ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI > 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร) ควรได้รับคำแนะนำในการลดน้ำหนักที่ถูกวิธีเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เช่น การส่งปรึกษากับนักโภชนาการ การเข้าโปรแกรมการควบคุมน้ำหนัก และส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยวันละ 30 นาที)
  • การควบคุมอารมณ์ การทำจิตใจให้สบายเพื่อลดความเครียด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด รวมถึงการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปนเปื้อนโลหะหนัก หรือมีการสวมใส่เครื่องแบบ/สวมใส่ถุงมือที่มีการป้องกันอย่างเหมาะสมเมื่อต้องสัมผัสกับสารรังสี หรือการทำ x-ray
  • รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และอาหารที่ช่วยบำรุงอสุจิได้แก่ ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วปากอ้า ถั่วพู วอลนัท ซึ่งมีปริมาณโปรตีน วิตามิน ธาตุเหล็ก ที่ส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ดี และรักษาระดับฮอร์โมนเพศชาย เพิ่มความแข็งแรง และปริมาณของอสุจิ3 
  • การรับประทานกรดโฟลิก และแร่ธาตุสังกะสีเสริม เนื่องจากมีรายงานพบว่าการเสริมด้วยสารดังกล่าวซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ มีความสัมพันธ์ต่อการสร้างอสุจิเพิ่มขึ้น ซึ่งจากคำแนะนำปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 สำหรับปริมาณกรดโฟลิกที่ควรได้รับในแต่ละวัน สำหรับเพศชาย อายุ 19-70 ปี คือ 0.3 มิลลิกรัม/วัน และแร่ธาตุสังกะสีในเพศชาย อายุ 19-30 ปี คือ 11.6 มิลลิกรัม/วัน และเพศชายอายุ 31-70 ปี คือ 10.9 มิลลิกรัม/วัน4 

คำแนะนำข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพสำหรับว่าที่คุณพ่อ เพื่อให้มีโอกาสในการมีบุตรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การวางแผนครอบครัวด้วยความรัก และความเข้าใจล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการส่งเสริมการมีบุตร คู่สมรสที่ต้องการมีบุตรควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ต่อไป

Image by Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Warner JN, Frey KA. The well-man visit: addressing a man's health to optimize pregnancy outcomes. J Am Board Fam Med. 2013;26(2):196-202.
  2. Frey KA, Navarro SM, Kotelchuck M, Lu MC. The clinical content of preconception care: preconception care for men. Am J Obstet Gynecol. 2008;199(6 Suppl 2):S389-95.
  3. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. การเตรียมความพร้อมก่อนใช้ชีวิตคู่และก่อนตั้งครรภ์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ, 2564.
  4. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน พ.ศ. 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ, 2563.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

คลอโรฟีลล์มีประโยชน์จริงหรือ? 1 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 1 วินาทีที่แล้ว
มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้ 2 วินาทีที่แล้ว
การตรวจปัสสาวะ 5 วินาทีที่แล้ว
ยายับยั้งการหลั่งกรด .… ผลเสียจากการใช้พร่ำเพรื่อ 5 วินาทีที่แล้ว
ปวดไมเกรน ... ระวัง ปัญหายาตีกันของ ergotamine 5 วินาทีที่แล้ว
10 อันดับอาหารที่มีโปแทสเซียมสูง กับประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ 5 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้วิงเวียน ระวัง! อย่าใช้พร่ำเพรื่อ 19 วินาทีที่แล้ว
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 19 วินาทีที่แล้ว
รูปแบบยา...มีกี่แบบ...ใช้อย่างไร 27 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล