Loading…

ยาแก้วิงเวียน ระวัง! อย่าใช้พร่ำเพรื่อ

ยาแก้วิงเวียน ระวัง! อย่าใช้พร่ำเพรื่อ

รองศาสตราจารย์.ดร.ภญ. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

890,459 ครั้ง เมื่อ 1 นาทีที่แล้ว
2011-09-11


อาการวิงเวียนศีรษะเป็นความเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งสาเหตุของการเกิดอาการวิงเวียนศีรษะมีมากมายหลากหลายสาเหตุ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยบางรายมีอาการดังกล่าวบ่อยๆ และมักไปซื้อยารับประทานเอง และเมื่อใช้บ่อยจนรู้จักยาแล้ว ก็เรียกหาและใช้ยาเหล่านั้นเป็นประจำ หรือในบางกรณี ไปพบแพทย์แล้วได้รับยาแก้วิงเวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วได้ผลดีก็จะนำตัวอย่างยาไปซื้อรับประทานต่อเองเป็นระยะเวลานาน 
 
>มียาแก้วิงเวียนอยู่ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยมีชื่อสามัญว่า ฟลูนาริซีน (flunarizine) ซึ่งมีชื่อทางการค้าที่หลากหลายเช่น Sibelium, Fludan, Fluricin, Poli-flunarin, Liberal, Simoyiam, Sobelin, Vanid, Vertilium เป็นต้น มักมีลักษณะเป็นแคบซูลสีแดงและเทา ซึ่งยาดังกล่าวในทางการแพทย์ มีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการวิงเวียน (vertigo) และป้องกันไมเกรน ตัวยาดังกล่าวสามารถเข้าไปในสมองและออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดในสมองและปรับระดับสารสื่อประสาทบางชนิดในสมองทำให้ป้องกันไมเกรนและลดอาการวิงเวียนศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หรือใช้ยาเองต่อเนื่อง โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางและส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อลายได้ โดยอาการที่พบมักเป็น อาการเดินได้ช้าลง ก้าวเดินผิดปกติ มือสั่น กล้ามเนื้อลิ้นพลิก พูดไม่ชัด อาการข้างเคียงเหล่านี้มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงที่อายุมาก และมีประวัติการรับประทานยานี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน รับประทานยาในขนาดที่สูงจนเกินไปเช่นครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นขนาดยาที่ผิด (ขนาดยาที่ถูกต้องคือครั้งละ 1-2 แคปซูลหรือ 5-10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง) หรือรับประทานร่วมกับยาอื่นที่มีผลเพิ่มระดับยาฟลูนาริซีนให้มากขึ้น เหตุผลที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เกิดจากการที่ยาฟลูนาริซีน มีผลลดการทำงานของสารสื่อประสาทที่สำคัญกับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีชื่อว่า โดปามีน (dopamine) ในระบบประสาทส่วนกลางบริเวณเบซัลแกงเกลี่ย (basal ganglia) ทำให้การส่งสัญญาณประสาทเพื่อควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลายหลายแห่งในร่างกายผิดปกติไป โดยทั่วไปหากใช้ยานี้ในขนาดต่ำและระยะเวลาสั้นๆ จะไม่เกิดอาการดังกล่าว

นอกจากยาฟลูนาริซีนแล้ว มียาอีกชนิดที่นิยมใช้เพื่อแก้อาการวิงเวียนเช่นกัน ได้แก่ยาซินนาริซีน (cinnarizine) และบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมักใช้ยาทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน หรือใช้ยาซินนาริซีนทดแทนยาฟลูนาริซีน ยาซินนาริซีนเองก็สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้เช่นเดียวกันกับยาฟลูนาริซีนหากใช้ในขนาดสูงและอย่างต่อเนื่อง

ผู้ที่มีอาการวิงเวียนศีรษะบ่อยครั้งและมักรับประทานยา 2 ชนิดนี้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะที่ซื้อมารับประทานเองโดยไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์หรือเภสัชกร ควรตระหนักถึงผลเสียดังกล่าวด้วย อาการข้างเคียงดังกล่าวถึงแม้จะหายไปได้เองเมื่อหยุดในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ในผู้ป่วยบางรายพบว่า อาการดังกล่าวอาจคงอยู่นานและอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จึงควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ยานี้ยังคงมีประโยชน์โดยเฉพาะในการป้องกันไมเกรนและบรรเทาอาการวิงเวียนที่มีผลจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูส่วนใน (vestibular system) หากใช้อย่างถูกต้องภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา