ยายับยั้งการหลั่งกรด .… ผลเสียจากการใช้พร่ำเพรื่อ
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
162,319 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว | |
2019-07-26 |
"ยายับยั้งการหลั่งกรด" ในบทความนี้หมายถึงยาที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตอนปั๊ม (proton pump inhibitors หรือ PPIs) เป็นยาที่ใช้กันมากในปัจจุบันเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น โอเมพราโซล (omeprazole), เอสโซเมพราโซล (esomeprazole), แลนโซพราโซล (lansoprazole), เด็กซ์แลนโซพราโซล (dexlansoprazole), แพนโทพราโซล (pantoprazole), ราเบพราโซล (rabeprazole)
ประโยชน์ของ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)"
ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในการรักษาโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร เช่น รักษาโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD) รักษาและควบคุมภาวะหลอดอาหารอักเสบมีแผล (erosive esophagitis) รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcers) รักษาโรคแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcers) รักษาและป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากการใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID-induced ulcers) รักษาภาวะที่มีการหลั่งกรดมากเกิน (รวมถึงกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน หรือ Zollinger-Ellison syndrome) รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (Helicobacter pylori) โดยใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพ ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยาเพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นมีแตกต่างกัน ควรใช้ตามระยะเวลาที่แนะนำไว้สำหรับแต่ละโรค เพราะการใช้เป็นเวลานานจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลเสียที่เกิดจากยา ซึ่งจะกล่าวต่อไป
กรดในกระเพาะอาหารมีความสำคัญอย่างไร?
ความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารมีความสำคัญหลายอย่าง กล่าวคือ ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร ช่วยปลุกฤทธิ์เอนไซม์ย่อยโปรตีน ช่วยในการดูดซึมสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 เหล็ก แคลเซียม เป็นต้น หากความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารลดน้อยลงไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดรวมถึงการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" ซึ่งมีฤทธิ์แรงมากในการยับยั้งการหลั่งกรด จะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่กล่าวมาได้
ผลเสียจากการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" อย่างพร่ำเพรื่อ
การใช้อย่างพร่ำเพรื่อในที่นี้รวมไปถึงการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งครอบคลุมถึงการสั่งใช้ยาอย่างเกินขอบเขตของข้อบ่งใช้ การใช้เกินขนาด การใช้เป็นเวลานานเกินกว่าระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่แนะนำไว้สำหรับแต่ละโรค การซื้อยามาใช้เองโดยไม่ได้รับการแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น แม้ว่าโดยทั่วไปจะถือว่า "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" มีอาการไม่พึงประสงค์น้อยหากใช้ตามข้อบ่งใช้ในขนาดและระยะเวลาตามข้อแนะนำ อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อหรือไม่เหมาะสมและใช้ยาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียได้หลายอย่าง (ตามรูปด้านล่าง) เช่น ลดการดูดซึมสารอาหาร ลดการดูดซึมเหล็ก ลดการดูดซึมวิตามินบี 12 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ เกิดภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำซึ่งจะรบกวนการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบประสาท เพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหัก (เกิดโรคกระดูกพรุน) เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม เกิดผลเสียต่อไต ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงยาจึงอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิด ด้วยเหตุนี้จึงควรหยุดการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ
แนวโน้มในการลดการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)"
ข้อมูลจากการศึกษาที่ปรากฏในเอกสารทางวิชาการพบว่า มีการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" อย่างพร่ำเพรื่อหรืออย่างไม่เหมาะสมกันเป็นจำนวนมากราว 40-70% (ขึ้นกับแต่ละการศึกษา) สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่อการได้รับผลเสียจากการใช้ยา รวมถึงการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิดซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการรักษาและอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยาอื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาเป็นเวลานานตามที่กล่าวข้างต้น ขณะนี้ในหลายประเทศได้มีการทบทวนการใช้ "ยายับยั้งการหลั่งกรด (กลุ่ม PPIs)" ในข้อบ่งใช้ต่าง ๆ ตลอดจนมีข้อแนะนำถึงแนวทางในการพิจารณาปรับลดการใช้ยาในกลุ่มนี้ ทั้งการลดขนาดยา การลดระยะเวลาที่ใช้ยา การใช้ยาเป็นช่วงหรือการใช้ตามต้องการเมื่อจำเป็น และการหยุดใช้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย
อาการตาล้าจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ 3 วินาทีที่แล้ว | |
เชื้อโรคในแหล่งน้ำธรรมชาติ 4 วินาทีที่แล้ว | |
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 4 วินาทีที่แล้ว | |
การผสมยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งสำหรับรับประทาน 8 วินาทีที่แล้ว | |
เมลาโทนิน (melatonin) ตัวช่วยนอนหลับยอดฮิต 10 วินาทีที่แล้ว | |
เป็นเบาหวาน...เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล 12 วินาทีที่แล้ว | |
โรคสมาธิสั้นในเด็ก: การรักษาด้วยยา 14 วินาทีที่แล้ว | |
น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง 14 วินาทีที่แล้ว | |
กลูต้าไธโอน (glutathione) ทำให้ขาวจริงหรือ?? 14 วินาทีที่แล้ว | |
ยาแก้ข้ออักเสบ (กลุ่มเอ็นเสด)..ระวังอันตรายต่อไต 1 นาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome